คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3658/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าธนาคารโจทก์ โดยเปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ 2 ฉบับ ครบกำหนดชำระเงินคืนในวันที่ 25 มิถุนายน 2511 และวันที่ 25 มิถุนายน 2513 หลังจากนั้นจำเลยได้ขอต่ออายุสัญญาทั้งสองฉบับไปอีกโดยมีกำหนดชำระหนี้พร้อมกันในวันที่ 25 มิถุนายน 2516 จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีภายในเวลาอายุสัญญาเท่านั้น ครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2516ก่อนวันที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะสิ้นสุดลง หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีและโจทก์ได้ยอมให้จำเลยที่ 1เบิกเงินเกินบัญชีได้อีก คงมีแต่การคำนวณดอกเบี้ยเข้าบัญชีเป็นรายเดือน แสดงว่ามิได้มีการเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันอีกเลยดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาอีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ตกลงกำหนดไว้ในสัญญาตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนากันไว้ หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้เสียก่อนไม่ อายุความในการฟ้องเรียกเงินตามบัญชีเดินสะพัดจึงเริ่มนับแต่วันที่ 26มิถุนายน 2516 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 21 เมษายน 2529 ซึ่งเกินกว่า10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์วงเงิน 20,000 บาท และ 30,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2511 และวันที่ 25 มิถุนายน2513 ตามลำดับ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากสัญญาทั้งสองฉบับถึงกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ขอต่ออายุสัญญาทั้งสองฉบับออกไปอีกเป็นครบกำหนดชำระหนี้คืนโจทก์ วันที่ 25 มิถุนายน 2516 พร้อมกันจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีตลอดมาจนสัญญาถึงกำหนด จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ และไม่ชำระหนี้ให้โจทก์โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้อีกต่อไป จึงได้หักทอนบัญชีกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2523 วันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ 155ฐ398.68 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ14 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2523 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน117,302.59 บาทรวมเป็นเงิน 272,701.27 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 155,398.68 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะผู้ฟ้องคดีมิใช่กรรมการของโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม นับแต่วันที่ 25มิถุนายน 2516 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ร้อยละ14 ต่อปี คงมีสิทธิคิดได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จำนวนหนี้ไม่ถึง272,701.27 บาท สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงวันที่ 25 มิถุนายน2516 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2529 เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ก่อนสืบพยานปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมก่อนโจทก์ฟ้องคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของธนาคารโจทก์สาขาราชวัตร โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2510 และวันที่ 15 กรกฎาคม 2512 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 20,000 บาท และ 30,000บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี คิดทบต้นตามประเพณีของธนาคาร ครบกำหนดชำระเงินคืนในวันที่ 25 มิถุนายน 2511 และวันที่25 มิถุนายน 2513 ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ตามลำดับจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีกับโจทก์จนสัญญาทั้งสองฉบับครบกำหนด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขอต่ออายุสัญญาทั้งสองฉบับออกไปอีกโดยมีกำหดนเวลาชำระหนี้พร้อมกันในวันที่ 25 มิถุนายน 2516 ตามเอกสารหมาย จ.6และ จ.7 แต่เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับครบกำหนดตามวันดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ก็มิได้ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ได้หักทอนบัญชีเมื่อวันที่28 พฤศจิกายน 2523 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ทั้งสิ้น155,398.68 บาท ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันและบัญชีแสดงยอดหนี้เอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ตามลำดับ โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1ตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็เพิกเฉย
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาของสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้มีการหักทอนบัญชีต่อกันและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่เหลือ ยังแสดงว่ามีบัญชีเดินสะพัดอยู่ต่อไป จนกระทั่งมีการหักทอนบัญชีในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2523 และต้องนับอายุความจากวันที่ลงในหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.10 คือวันที่ 12 พฤษภาคม 2526 จนถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อมีการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับที่โจทก์ฟ้องไปเป็น วันที่ 25 มิถุนายน 2516 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงเบิกเงินเกินบัญชีและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีภายในเวลาอายุสัญญาเท่านั้นครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 4เมษายน 2516 ก่อนวันที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับจะสิ้นสุดลง แต่หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีและโจทก์ได้ยอมให้ จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีได้อีก ตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.9 คงมีแต่การคำนวณดอกเบี้ยนำเข้าบัญชีเป็นรายเดือนต่อมา แสดงว่ามิได้มีการเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันอีกเลย ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาอีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงนับแต่วนที่ตกลงกำหนดไว้ในสัญญาตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนากันไว้เช่นนั้นในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับและคำขอต่ออายุสัญญา เอกสารหมาย จ.4ถึงจ.7 หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้เสียก่อนไม่ เพราะได้กำหนดไว้แน่นอนแล้ว อายุความในคดีนี้จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2516 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 21 เมษายน2529 ซึ่งเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า เฉพาะดอกเบี้ยนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันฟ้องไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเป็นค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า เมื่อหนี้ต้นเงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความเสียแล้ว ดอกเบี้ยอันเป็นหนี้อุปกรณืย่อมขาดอายุความไปด้วยที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share