แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ในวงเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ส่งต้นฉบับกรมธรรม์ประกันภัย ไม่ชอบที่จะรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐาน ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวนด้วยนั้น จำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยที่ 3. จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 3 และปัญหานี้โจทก์มิได้ฎีกา การที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำแก้ฎีกาไม่เป็นประเด็นในชั้นฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างซึ่งกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ ๒ ที่ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ซึ่งแล่นสวนทางมา ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดรายได้ ค่าเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน ค่าที่ขาโจทก์ต้องเสียโฉม ค่าพาหนะไปหาแพทย์ รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น ๒๙๖,๘๘๕ บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ เหตุที่เกิดขึ้นเป็นความประมาทของโจทก์ โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเกินความจริง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิด ถ้าจะต้องรับผิดก็ไม่เกินวงเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยท้ายคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๙๑,๖๖๕ บาทแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ขอค่าเสียหายเพิ่มขึ้น
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ อุทธรณ์ว่าค่าเสียหายของโจทก์อย่างมากไม่เกิน ๙๑,๖๖๕ บาท และจำเลยที่ ๓ ควรรับผิดในวงเงินไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มขึ้นจากศาลชั้นต้นกำหนดอีก ๒,๐๐๐ บาท สำหรับจำเลยที่ ๓ ให้ร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ส่งต้นฉบับกรมธรรม์ประกันภัย ไม่ชอบที่จะรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ขอให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวนด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๒ มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยที่ ๓ จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ ๓ และปัญหาข้อนี้โจทก์มิได้ฎีกา การที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำแก้ฎีกาไม่เป็นประเด็นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน