คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8318/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 4 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ความผิดฐานนี้มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตามฟ้อง เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในฐานนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 4 ลงโทษจำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 5, ที่ 6 และที่ 8 ว่ากระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 อ. ก. ว. เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เห็นจำเลยคนนั้น คนนี้ โดยบรรยายการกระทำของจำเลยแต่ละคน ซึ่งเหตุการณ์กลุ่มนักเรียนวิ่งไล่รุมทำร้ายกันย่อมมีคนร้ายจำนวนมาก วิ่งไล่กันไปมา ประจักษ์พยานแต่ละคนอาจเห็นเหตุการณ์โดยเบิกความเท่าที่ตนเห็นไม่มีพิรุธหรือน่าสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 อยู่ในกลุ่มคนร้าย ผู้เสียหายที่ 3 เห็นจำเลยที่ 5 ถืออาวุธมีดวิ่งมาพร้อมจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยบางคนแทงผู้ตายและผู้เสียหาย หากจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาร่วมกับจำเลยอื่น ก็ไม่น่าจะวิ่งตามไป แม้จะมิได้ใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้ใดก็ตาม แต่ย่อมเล็งเห็นได้ว่า พวกอาจทำร้ายผู้อื่นได้ และหลบหนีไปด้วยกัน จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับพวกในการฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1
เมื่อจำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 6 ถอนฎีกา จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1
ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 รับผิดในส่วนแพ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ร่วมรับผิดนั้นไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 288, 295, 371 กับให้นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 289/2555 ของศาลชั้นต้น และให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และนายณรงศักดิ์ บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายยื่นคำร้องในคดีส่วนแพ่งขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และจิตใจ ศาลชั้นต้นให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และนายณรงศักดิ์ว่า ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 90,000 บาท ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอเป็นเงิน 150,000 บาท และผู้ร้องที่ 3 ยื่นคำร้องขอเป็นเงิน 2,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ให้การในคดีส่วนแพ่งทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 ไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 371 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 371 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 อายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 อายุ 17 ปีเศษ จำเลยที่ 7 อายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 50 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 50 บาท ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุก 8 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 50 บาท รวมจำคุก 8 ปี 6 เดือน และปรับ 50 บาท ลงโทษจำเลยที่ 6 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุก 8 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 50 บาท รวมจำคุก 8 ปี และปรับ 50 บาท ลงโทษจำเลยที่ 8 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 6 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 50 บาท รวมจำคุก 6 ปี และปรับ 50 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ปรับคนละ 50 บาท อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 8 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 10 สำหรับจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน จำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 8 มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยคนใดไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยคนนั้นไปควบคุมที่ศูนย์ฝึกและอบรมข้างต้น มีกำหนด 10 วัน ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ถ้าขณะคดีถึงที่สุดจำเลยอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ แล้ว จำเลยยังไม่ได้ถูกควบคุมตัวเพื่อฝึกอบรม ให้ส่งตัวไปจำคุกไว้ในเรือนจำมีกำหนดเท่าระยะเวลาฝึกอบรมหรือถ้าจำเลยถูกควบคุมตัวเพื่อฝึกอบรมแล้วแต่ไม่ครบกำหนดขั้นสูง ให้ส่งตัวไปจำคุกไว้ในเรือนจำมีกำหนดเท่าระยะเวลาฝึกอบรมที่เหลือ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 289/2555 ของศาลชั้นต้น สำหรับข้อหาที่ไม่ลงโทษจำเลยคนใดให้ยก ริบอาวุธมีด 2 เล่ม และปลายอาวุธมีดของกลาง กับให้จำเลยที่ 8 จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 90,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 70,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 และที่ 6 ร่วมกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท ทั้งนี้ ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดให้จ่ายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับจำเลยอื่นให้ยก
โจทก์ และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 295, 371, 391 ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 อายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 8 อายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นจำคุกคนละ 8 ปี ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจจำคุกคนละ 6 เดือน เฉพาะจำเลยที่ 3 กระทำความผิด 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุกคนละ 15 วัน และฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 50 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 คนละ 13 ปี 6 เดือน 15 วัน และปรับคนละ 50 บาท เฉพาะจำเลยที่ 3 จำคุก 13 ปี 12 เดือน 15 วัน และปรับ 50 บาท ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 10 มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 4 ปี ขั้นสูงคนละ 5 ปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 8 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาตเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 สำหรับจำเลยที่ 8 ไม่ได้ยื่นฎีกา จึงไม่มีฎีกาของจำเลยที่ 8 ยกคำร้อง คดีจึงเหลือการพิจารณาเพียงเฉพาะจำเลยที่ 5
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ นักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยี ป. กับนักเรียนเทคโนโลยี ด. มักมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน ขณะเกิดเหตุ ผู้ตาย ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 นาย อ. นางสาว ก. และนาย ว. เป็นนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยี ป. ส่วนจำเลยทั้งแปดเป็นนักเรียนโรงเรียนเทคโนโลยี ด. ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องมีคนร้ายหลายคนร่วมกันใช้อาวุธมีดฟัน แทง และใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายกับผู้เสียหายทั้งสี่ โดยคนร้ายใช้อาวุธมีดฟันและแทงผู้ตายบริเวณหลัง มีบาดแผลฉีกขาดบริเวณข้อศอกขวา ข้อมือขวา และแผ่นหลังยาว 1 ถึง 7 เซนติเมตร ปอดทั้งสองข้างฉีกขาดจากบาดแผลถูกแทงบริเวณแผ่นหลัง ผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลถูกของมีคมขนาดแผลยาว 4 เซนติเมตร บริเวณต้นแขนซ้ายลึกเข้าใต้ชั้นผิวหนัง บาดแผลยาว 5 เซนติเมตร บริเวณหลังด้านขวา ลึกเข้าช่องอกและถูกปอดขวากลีบล่าง เลือดออกในช่องอกขวา แพทย์เจาะช่องอกเพื่อใส่ท่อระบายเลือดใช้เวลารักษานานประมาณหกสัปดาห์ หากไม่มีอาการแทรกซ้อน ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบที่ใบหูขวา ยาว 2 เซนติเมตร ลึก 0.2 เซนติเมตร ใบหูไม่ขาด แผลฉีกขาดที่กกหูข้างขวา ยาว 1 เซนติเมตร ลึก 0.5 เซนติเมตร รอยขีดยาวที่ข้างใบหูขวา ยาว 5 เซนติเมตร กว้าง 0.2 เซนติเมตร แพทย์มีความเห็นว่า บาดแผลเกิดจากการกระแทกเสียดสีกับของแข็งมีคมใช้เวลารักษาแผลประมาณ 6 ถึง 8 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้เสียหายที่ 3 มีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบที่ต้นแขนขวายาว 3.5 เซนติเมตร ลึก 0.5 เซนติเมตร รอยแดงต้นแขนขวา ยาว 13 เซนติเมตร รอยปริที่สะบักหลังด้านขวา ยาว 3 เซนติเมตร ลึก 0.1 เซนติเมตร และใกล้กันมีรอยแดง ยาว 4 เซนติเมตร แผลฉีกขาดสะบักหลังซ้าย ยาว 1 เซนติเมตร ลึก 0.5 เซนติเมตร แพทย์มีความเห็นว่าแผลฉีกขาดเกิดจากการกระแทกเสียดสีกับของแข็งไม่มีคม ส่วนแผลอื่น ๆ เกิดจากการกระแทกเสียดสีกับของแข็งไม่มีคม ใช้เวลารักษาแผลประมาณ 7 ถึง 9 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน
สำหรับความผิดฐานทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 4 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ความผิดฐานนี้มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับและโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ฐานนี้ตามฟ้อง จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในฐานนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 4 และลงโทษจำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 5, ที่ 6 และที่ 8 ว่ากระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 นั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตาย และร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 นาย อ. นางสาว ก. และนาย ว. พยานโจทก์เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เห็นจำเลยคนนั้นบ้าง จำเลยคนนี้บ้าง โดยบรรยายการกระทำของจำเลยแต่ละคน สำหรับจำเลยที่ 5 มีผู้เสียหายที่ 3 เห็นถืออาวุธมีดวิ่งมาพร้อมกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 5 ไม่ได้ใช้อาวุธมีดฟันทำร้าย เห็นว่า เหตุการณ์กลุ่มนักเรียนวิ่งไล่รุมทำร้ายกันย่อมมีคนร้ายจำนวนมากและวิ่งไล่กันไปมา ประจักษ์พยานโจทก์แต่ละคนอาจเห็นเหตุการณ์ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง เห็นคนร้ายคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง แต่ประจักษ์พยานโจทก์แต่ละคนเบิกความเท่าที่ตนเห็น กระนั้นพยานโจทก์หลายปากก็ยืนยันจำเลยบางคนตรงกัน ซึ่งเป็นธรรมดาสำหรับเหตุการณ์เช่นนั้น ไม่ได้มีพิรุธหรือน่าสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย ร้อยตำรวจเอกพงศ์ปวุฒิ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมก็ยืนยันว่าเห็นนักเรียนกลุ่มที่หลบหนีขึ้นรถแท็กซี่จึงติดตามไปไม่คลาดสายตา แล้วเรียกให้รถแท็กซี่หยุดตรวจค้นจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้ทันที โดยผู้เสียหายที่ 2 ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 และที่ 5 อยู่ในกลุ่มคนร้าย ทั้งผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า จำเลยที่ 5 ถืออาวุธมีดร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยโดยเป็นนักเรียนเทคโนโลยี ด. เหมือนกลุ่มจำเลยอื่นและวิ่งตามพวกไปเพื่อจะเข้าทำร้ายกลุ่มของผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งเป็นนักเรียนเทคโนโลยี ป. โดยมีจำเลยบางคนแทงผู้ตายและผู้เสียหายด้วยและจำเลยที่ 5 ได้พกพาอาวุธในลักษณะเตรียมพร้อมตลอดเวลา ทั้งอยู่ร่วมในที่เกิดเหตุในลักษณะพร้อมจะให้ความช่วยเหลือกันและกันได้ หากจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาร่วมกับจำเลยคนอื่นแล้ว ก็น่าที่จะไม่วิ่งตามไป แต่หาได้กระทำไม่ ถึงแม้ว่าในที่สุดจำเลยที่ 5 จะมิได้ใช้อาวุธมีดฟันผู้ใดก็ตาม แต่ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าพวกอาจมีการทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้และจำเลยที่ 5 ถูกจับกุมพร้อมกับจำเลยคนอื่นบนรถแท็กซี่เนื่องจากหลบหนีไปด้วยกัน การกระทำของจำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกันกับพวกในการกระทำผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ที่จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ คือชั้นใต้ดินห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต แม้จะใกล้กันมากก็ตามมิได้พกอาวุธ แต่ทราบจากพนักงานขายของในโรงหนังเมเจอร์รังสิตว่ามีนักเรียนตีกันนั้น ก็ขัดแย้งกับที่จำเลยที่ 5 เบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 5 ไม่ได้ไปที่ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิตหรือโรงหนังเมเจอร์รังสิตเลย ซึ่งเป็นการอ้างฐานที่อยู่ และหากไม่ได้เข้าเป็นตัวการร่วมด้วยก็คงไม่ถูกจับกุมพร้อมกับจำเลยอื่นที่ร่วมกระทำผิด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาหนักแน่นมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยที่ 5 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษและเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 5 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 5 ปี มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย โดยเห็นสมควรเปลี่ยนกำหนดระยะเวลาในการส่งตัวไปจำคุกต่อตามมาตรา 142 วรรคท้ายใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ถอนฎีกาจึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ตามลำดับ ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 3 ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายและแก่ผู้ร้องที่ 1 จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แม้ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 จะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 รับผิดในส่วนแพ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ร่วมรับผิดนั้นไม่ชอบ จึงให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ร่วมรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 8 ซึ่งไม่ได้ฎีกาด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 5 อายุครบยี่สิบสี่ปีแล้วแต่ยังได้รับการฝึกอบรมไม่ครบกำหนดระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำ ให้ส่งตัวไปจำคุกต่อจนกว่าจะครบกำหนดฝึกอบรมขั้นต่ำที่เหลือ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 ด้วย ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 4 และที่ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share