คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาว่าจ้างบริการทำความสะอาดอาคารและสถานที่ กำหนดว่า การจะเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในสัญญา โดยเฉพาะอัตราค่าบริการ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกันเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและแนบท้ายสัญญาไว้ด้วย ต้องถือว่าอัตราค่าบริการเป็นสาระสำคัญของสัญญา เพราะโจทก์เข้ามาทำงานรับจ้างทำความสะอาดอาคารและสถานที่ให้จำเลย ก็หวังจะได้ค่าบริการจากจำเลยเป็นการตอบแทนนั่นเอง การที่โจทก์มีหนังสือขอปรับขึ้นค่าบริการ ไปถึง จ. ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง และ ภ. ฝ่ายแม่บ้าน ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลย บุคคลทั้งสองไม่มีอำนาจตกลงเปลี่ยนแปลงข้อสัญญากับโจทก์ได้ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการปรับขึ้นค่าบริการ การตกลงที่สำคัญเช่นนี้โจทก์ต้องมีหนังสือไปถึงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย เมื่อกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยไม่ได้ตกลงกับโจทก์ ไม่ได้มีการทำข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หนังสือปรับขึ้นค่าบริการของโจทก์จึงยังไม่ผูกพันให้จำเลยต้องรับผิดในอัตราค่าบริการใหม่ที่โจทก์กำหนดขึ้นเอง แม้หลังจากที่พนักงานของจำเลยได้รับหนังสือขอปรับขึ้นค่าบริการแล้วจะยังมีการจัดซื้อจัดจ้างโจทก์ก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าจำเลยได้ตกลงยินยอมให้โจทก์ปรับขึ้นค่าบริการแล้ว จึงไม่มีผลให้โจทก์สามารถคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ เพราะพนักงานดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ทั้งโจทก์ยอมรับว่า จำเลยยังไม่เคยจ่ายเงินค่าบริการในอัตราที่โจทก์กำหนดขึ้นใหม่ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด เท่ากับว่าจำเลยยังไม่ได้ตกลงด้วยกับโจทก์ในการปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการใหม่ โจทก์ย่อมไม่อาจคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ และเนื่องจากระหว่างพิจารณา จำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างหรือค่าบริการที่ค้างชำระให้จนโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างในอัตราเดิมจากจำเลยอีกต่อไปแล้ว และค่าจ้างหรือค่าบริการในอัตราใหม่ก็ไม่ผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าจ้างหรือค่าบริการค้างจ่ายจากจำเลยได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างค้างชำระและค่าเสียหาย 19,349,895.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า ค่าจ้างค้างชำระที่โจทก์เรียกร้องมาตามคำฟ้อง จำเลยได้จ่ายให้แก่โจทก์ในอัตราค่าจ้างเดิมเป็นเงิน 9,258,388.65 บาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างค้างชำระจากจำเลยในส่วนอัตราค่าจ้างเดิมอีกต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 8,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างบริการทำความสะอาดอาคารและสถานที่กับโจทก์ สัญญามีกำหนดอายุ 3 ปี ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 ก่อนครบกำหนดสัญญา วันที่ 26 มีนาคม 2555 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอปรับขึ้นค่าจ้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 และต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2555 จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ โจทก์ทำงานให้จำเลยจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 และในเวลาเย็นวันนั้นโจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและพนักงานทั้งหมดออกจากพื้นที่ของจำเลย โดยโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ก่อนฟ้องคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า การที่โจทก์ขอปรับขึ้นค่าจ้าง นั้น ผูกพันให้จำเลยต้องชำระค่าจ้างในอัตราใหม่แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในสัญญาว่าจ้างบริการทำความสะอาดอาคารและสถานที่ ในข้อ 4 และ ข้อ 19 มีข้อกำหนดไว้อย่างแจ้งชัดว่า การจะเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในสัญญา โดยเฉพาะอัตราค่าบริการ ทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกันเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและแนบท้ายสัญญาไว้ด้วย ซึ่งต้องถือว่าอัตราค่าบริการเป็นสาระสำคัญของสัญญา เพราะโจทก์เข้ามาทำงานรับจ้างทำความสะอาดอาคารและสถานที่ให้จำเลย ก็เพราะหวังจะได้ค่าบริการจากจำเลยเป็นการตอบแทนนั่นเอง การที่สัญญากำหนดไว้ว่าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการต้องตกลงยินยอมด้วยกันทั้งสองฝ่ายจึงถูกต้องชอบด้วยเหตุผลแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏเพียงว่าโจทก์มีหนังสือ เรื่องการขอปรับขึ้นค่าบริการ ไปถึงนางจินตนา ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง และนายภวัต ฝ่ายแม่บ้าน ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยเท่านั้น ซึ่งทั้งนางจินตนาและนายภวัต ต่างก็ไม่มีอำนาจตกลงเปลี่ยนแปลงข้อสัญญากับโจทก์ได้ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการปรับขึ้นค่าบริการเช่นนี้ การตกลงที่สำคัญเช่นนี้โจทก์ควรต้องมีหนังสือไปถึงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยซึ่งลงลายมือชื่อไว้ในสัญญา ดังเช่นที่จำเลยทำหนังสือไปถึงกรรมการของโจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่ากรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้ตกลงกับโจทก์ ไม่ได้มีการทำข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ตามที่กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ในสัญญา หนังสือขอปรับขึ้นค่าบริการของโจทก์จึงยังไม่ผูกพันให้จำเลยต้องรับผิดในอัตราค่าบริการใหม่ที่โจทก์กำหนดขึ้นเองได้ แม้ภายหลังจากพนักงานของจำเลยจะได้รับหนังสือแล้ว จะยังมีการจัดซื้อจัดจ้างโจทก์ตามอัตราค่าบริการใหม่ก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าจำเลยได้ตกลงยินยอมให้โจทก์ปรับขึ้นค่าบริการแล้ว จึงไม่มีผลให้โจทก์สามารถคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ เพราะพนักงานดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ซึ่งโดยข้อเท็จจริงโจทก์ก็ยอมรับเองว่า ตามความเป็นจริงแล้วจำเลยยังไม่เคยจ่ายเงินค่าบริการในอัตราที่โจทก์กำหนดขึ้นใหม่ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยยังไม่ได้ตกลงด้วยกับโจทก์ในการปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการดังกล่าวนั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่ายังไม่มีการตกลงปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการกัน โจทก์ย่อมไม่อาจคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ และเนื่องจากระหว่างพิจารณา ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 23 กันยายน 2557 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่า จำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างชำระให้จนโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างในอัตราเดิมจากจำเลยอีกต่อไปแล้ว และค่าจ้างหรือค่าบริการในอัตราใหม่ก็ไม่ผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวแล้วข้างต้น โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าจ้างหรือค่าบริการค้างจ่ายจากจำเลยได้อีกต่อไปไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างหรือค่าบริการในอัตราเก่าหรืออัตราใหม่ และย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยจากค่าจ้างหรือค่าบริการดังกล่าวได้ด้วย ฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับค่าจ้างหรือค่าบริการฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์คือ จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาอันจะเป็นเหตุให้โจทก์สามารถเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่จำเลยยังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนมาก เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกำหนดระยะในสัญญาไปเป็นเวลานานมาก แต่จำเลยอ้างเหตุตามสัญญาที่จะไม่จ่ายให้โจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ยังคงค้างไม่ชำระค่าปรับแก่จำเลย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนค่าปรับและหนี้ที่จำเลยค้างชำระแล้วต่างกันมากมายดังกล่าวแล้ว ทั้ง ๆ ที่จำเลยก็สามารถใช้สิทธิตามสัญญาหักชำระหนี้ดังกล่าวได้แต่กลับไม่ทำ กลับมาใช้สิทธิยึดหน่วงไม่จ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างจำนวนมากแก่โจทก์จึงต้องถือว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โดยข้อเท็จจริงจำเลยเพิ่งจะมาจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ครบถ้วน ก็ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้นั่นเอง จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายค้างชำระหนี้ค่าจ้างหรือค่าบริการและยังไล่ให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและคนงานออกจากพื้นที่ของจำเลยทันทีก่อนครบกำหนดในสัญญา จึงต้องฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ใช่ฝ่ายผิดสัญญา ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์คือจำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า รายการแรกโจทก์เรียกค่าเสียหายจากการต้องขนย้ายทรัพย์สินและคนงานออกจากพื้นที่ของจำเลยอย่างกะทันหัน โดยเรียกร้องมาเป็นเงิน 200,000 บาท แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานใด ๆ เลย เพื่อให้เห็นว่าโจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินจำนวนดังกล่าวจริง แต่จากพฤติการณ์ที่โจทก์ต้องนำพนักงานเข้าทำความสะอาดพื้นที่ของจำเลยเป็นจำนวนมาก และทำมานานกว่า 2 ปีแล้วเช่นนี้ เชื่อได้ว่าโจทก์ต้องมีวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานเก็บอยู่ในพื้นที่ของจำเลยเป็นจำนวนมาก การต้องขนย้ายอย่างกะทันหันคงต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง เพราะไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า เห็นสมควรกำหนดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 60,000 บาท รายการต่อไปโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเป็นค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เนื่องจากโจทก์ต้องเลิกจ้างคนงาน รวมเป็นเงิน 4,002,285 บาท ตามฟ้องข้อ 7.2 แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบนางรัชนียืนยันว่า ความเสียหายรายการนี้มี 2,000,000 บาทเศษ ส่วนนางบุปผชาติ พนักงานบัญชีของโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้จัดทำเอกสาร ก็ไม่ได้เบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวในรายละเอียดแต่อย่างใด นอกจากยืนยันว่าได้จัดทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีรายละเอียดว่ามีหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างใด ค่าชดเชยเท่าใด ทั้งจำนวนตัวเลขที่ปรากฏ ก็ไม่ตรงกับค่าเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องด้วย นอกจากนี้โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับจ้างทำความสะอาดทั่วไป ไม่ใช่โจทก์ตั้งบริษัทขึ้นเพื่อทำงานรับจ้างให้แก่จำเลยเป็นการเฉพาะเท่านั้น เมื่อไม่ได้ทำงานกับจำเลย โจทก์ก็ไม่ได้ปิดบริษัท ยังคงดำเนินกิจการต่อไป ดังนั้นพนักงานหรือคนงานที่โจทก์ว่าจ้างไว้ก็สามารถนำไปใช้ทำงานอื่นที่โจทก์รับจ้างไปทำความสะอาดได้อีกด้วย โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องบอกเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดตามที่กล่าวอ้าง แม้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจะไม่น่าเชื่อถือนัก เนื่องจากมีแต่เพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ และยังมีพิรุธไม่ถูกต้องตรงกัน ทั้งคำขอในฟ้อง คำพยาน และเอกสารดังกล่าวแล้ว แต่เชื่อได้ว่าโจทก์คงต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่บ้างเป็นแน่ จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท รายการต่อไปโจทก์เรียกค่าเสียหายจากค่าเสื่อมสภาพของวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ วัสดุสิ้นเปลือง ซึ่งโจทก์ขอคิดมาเป็นเงิน 602,199.66 บาท โดยการนำสืบโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นเลยว่าโจทก์มีค่าเสียหายในส่วนนี้จริง คำเบิกความของพยานโจทก์หรือพยานหลักฐานที่เป็นเอกสาร ก็ไม่ปรากฏในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าเสียหายในส่วนนี้เลยแต่อย่างใด เช่นเดียวกัน การที่บริษัทโจทก์ตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการรับจ้างทำความสะอาดโดยทั่วไป ไม่ใช่ตั้งขึ้นเพื่อทำงานกับจำเลยเท่านั้น แม้ไม่ได้ทำงานกับจำเลยแล้วโจทก์ก็ยังทำงานกับคู่สัญญาอื่นได้ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ วัสดุสิ้นเปลืองของโจทก์ก็ยังสามารถนำไปใช้ในกิจการอื่นได้อีก เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นความเสียหายที่แท้จริง แต่เชื่อว่าคงมีความเสียหายในส่วนนี้อยู่บ้าง จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท สำหรับค่าเสียหายประการสุดท้ายคือค่าเสียโอกาสและขาดรายได้ ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกร้องมาเป็นเงินจำนวน 2,669,484.15 บาท และนำสืบโดยมีนางบุปผชาติ ผู้จัดทำเอกสารมาเบิกความยืนยันว่า ได้จัดทำเอกสารดังกล่าวขึ้นโดยคำนวณจากใบสั่งจ้างที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ทั้งหมด เห็นว่าตามเอกสารดังกล่าวเป็นรายการที่คำนวณออกมาโดยเทียบว่าหากจำเลยให้โจทก์ทำงานตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์ก็จะมีรายได้ตามเอกสารดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้มีการทำงานดังกล่าวให้แก่จำเลย ซึ่งแม้จะทำให้โจทก์ขาดรายได้ดังกล่าวก็จริงอยู่ แต่ก็ต้องถือว่าเมื่อโจทก์ไม่ได้ทำงานโจทก์ก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างคนงาน ไม่ต้องเสียค่าวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ โจทก์ก็ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนเหล่านี้ ก็ต้องรวมอยู่ในจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาในส่วนนี้บวกกำไรของโจทก์นั่นเอง เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลย โจทก์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจเรียกร้องรายได้ที่ควรได้ทั้งหมดเมื่อไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลย แต่เมื่อการที่โจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลย จำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 2,110,000 บาท ซึ่งจำเลยต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นด้วย ฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 2,110,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความในชั้นฎีกาให้เป็นเงิน 10,000 บาท

Share