แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานหรือไม่ต้องพิจารณาไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 มาตรา 79 และกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 79 เป็นสำคัญ ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ซึ่งออกตามความในมาตรา 79 ข้อ 2 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 78 ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามข้อ 1 ตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้ใดไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันว่างงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนนั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ และข้อ 3 กำหนดเงื่อนไขให้สำนักงานประกันสังคมงดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไว้เพียง 3 กรณี ตาม (1) ถึง (3) เท่านั้น
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 2 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน กรณีลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันว่างงานไว้ว่า ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ ทั้งการไปขึ้นทะเบียนหางานเกินระยะเวลาที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนก็ไม่เป็นเหตุตัดสิทธิหรืองดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว การที่สำนักงานประกันสังคมออกประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ในข้อ 3.2 (2) กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนหางานหลัง 90 วัน หรือหลัง 180 วัน นับแต่วันที่แปดของการว่างงานในกรณีลาออกหรือถูกเลิกจ้างแล้ว แต่กรณีไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน อันเป็นการตัดสิทธิประโยชน์ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ประกาศดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับเพื่อตัดสิทธิโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 2152/2550 ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากลาออกเป็นเงินประมาณ 10,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งประโยชน์ทดแทนของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 2152/2550 ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากการลาออกแก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 มาตรา 79 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 1 (2)
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามพยานหลักฐานและคำรับของคู่ความว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตนโดยเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 ด้วยเหตุลาออก จึงไปขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 แล้ววินิจฉัยว่า ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมงดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไว้เพียง 3 กรณี ตามข้อ 3 (1) ถึง (3) ซึ่งไม่มีกรณีตามประกาศของสำนักงานประกันสังคม ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ข้อ 3.2 (2) ประกาศของสำนักงานประกันสังคมข้อนี้ขัดกับกฎกระทรวงดังกล่าว จึงใช้บังคับไม่ได้ คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ในทางตัดสิทธิประโยชน์ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์เป็นผู้ประกันตน โดยเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างด้วยการลาออกในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 และไปขึ้นทะเบียนหางานกับสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 ในวันที่ 24 เมษายน 2550 เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 90 วัน ตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ข้อ 3.2 (2) ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ก็ตาม แต่เมื่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานและจะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ใน (1) ถึง (3) และตามมาตรา 79 ได้กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 2 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 78 ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามข้อ 1 ตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้ใดไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันว่างงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนนั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ และข้อ 3 กำหนดเงื่อนไขให้สำนักงานประกันสังคมงดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไว้เพียง 3 กรณี ตาม (1) ถึง (3) เท่านั้น ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานหรือไม่ จึงต้องพิจารณาไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 78 และมาตรา 79 และกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นหลักสำคัญ เมื่อกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 2 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน กรณีลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันว่างงานไว้ว่า ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ ทั้งการไปขึ้นทะเบียนหางานเกินระยะเวลาที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนก็ไม่เป็นเหตุตัดสิทธิหรืองดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว การที่สำนักงานประกันสังคมออกประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ในข้อ 3.2 (2) กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนหางานหลัง 90 วัน หรือหลัง 180 วัน นับแต่วันที่ 8 ของการว่างงานในกรณีลาออกหรือถูกเลิกจ้างแล้วแต่กรณีไม่มีสิทธิในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้รับประโยชน์ทดแทน อันเป็นการตัดสิทธิประโยชน์ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ประกาศดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับเพื่อตัดสิทธิโจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน