คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เงินที่จำเลยวางไว้แก่โจทก์เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าห้องชุดอันเนื่องจากจำเลยไม่ชำระค่าเช่า ค่าเช่าอุปกรณ์ หรือความเสียหายอื่น ๆ โดยโจทก์มีสิทธิจะหักจากเงินดังกล่าวไปชำระได้และตามสัญญากำหนดให้คืนเงินแก่ผู้เช่าในวันที่สัญญาสิ้นสุดหากผู้เช่าได้ชำระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแก่ผู้เช่าให้ครบถ้วนมิใช่สิ่งที่จำเลยให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ทำสัญญาขึ้นแล้วหรือเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาจึงมิใช่มัดจำที่จะริบได้
จำเลยมีหนังสือขอเจรจาเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์และได้เจรจาเพื่อขอเลิกการเช่าเรื่อยมา ต่อมาจำเลยแจ้งเป็นหนังสือขอเลิกการเช่าแล้วย้ายออกจากห้องชุดที่เช่า โจทก์จึงรู้อยู่แล้วว่าจำเลยต้องการเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ โจทก์ย่อมสามารถเตรียมจัดหาผู้เช่ารายใหม่แล้วบอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยได้เพื่อบรรเทาความเสียหาย แต่โจทก์หาได้กระทำไม่ กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป ทำให้ความเสียหายเพิ่มสูงขึ้น ถือได้ว่าโจทก์ไม่พยายามบรรเทาความเสียหายตามที่สมควรกระทำได้ โจทก์จึงมีส่วนผิดด้วยในความเสียหายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2539 จำเลยตกลงทำสัญญาเช่าห้องชุดพร้อมอุปกรณ์ภายในห้องชุดในอาคารชุดเลขที่ 1204 ชั้น 12 เนื้อที่ประมาณ 165 ตารางเมตร มีกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 56,100 บาท จำเลยวางเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญา 336,600 บาท ตกลงว่าหากผิดนัดโจทก์ริบเงินมัดจำดังกล่าวได้ในวันเดียวกันจำเลยทำสัญญาขอใช้บริการต่าง ๆ ของอาคารชุดที่ห้องชุดที่เช่าตั้งอยู่ คือ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบเครื่องปรับอากาศ และลิฟต์ ระบบรักษาความปลอดภัย ที่จอดรถ และการดูแลรักษาความสะอาดส่วนกลาง เป็นต้น กำหนดระยะเวลาใช้บริการ 3 ปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน2539 อัตราค่าบริการเดือนละ 56,100 บาท โดยถือว่าสัญญาทั้งสองฉบับไม่อาจแยกกันได้การบอกเลิกสัญญาหรือฝ่าฝืนสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งถือเป็นการบอกเลิกสัญญาและฝ่าฝืนสัญญาอีกฉบับหนึ่ง ต่อมาเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2541 ถึงเดือนเมษายน2541 จำเลยขอระงับสัญญาทั้งสองฉบับแต่โจทก์ไม่ยินยอมและเมื่อวันที่ 27 เมษายน2541 จำเลยมีหนังสือขอระงับการเช่าตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2541 โดยขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องชุดที่เช่า จำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหายเท่ากับค่าเช่าและค่าใช้บริการรวมกันอัตราเดือนละ 112,200 บาท นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2541 จนถึงวันที่31 ตุลาคม 2542 รวม 18 เดือน เป็นเงินจำนวน 2,019,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2541 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 เดือน 14 วันเป็นดอกเบี้ยจำนวน 3,758 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 2,063,358บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 2,019,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าและค่าบริการในส่วนที่ยังไม่ถึงกำหนด โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงเท่าที่ไม่ได้รับค่าเช่าตามสัญญาในอัตราเดือนละ39,270 บาท มีกำหนด 3 เดือนเศษ ซึ่งโจทก์ได้รับชดเชยค่าเสียหายดังกล่าวจากเงินประกันความเสียหายจำนวน 336,600 บาท และเงินประกันหมายเลขโทรศัพท์จำนวน60,000 บาท จึงต้องนำเงินจำนวนนี้มาหักออกจากค่าเสียหายด้วย ส่วนสัญญาเช่าใช้อุปกรณ์ภายในและสัญญาขอใช้บริการสัญญาที่โจทก์และจำเลยมีเจตนาชัดแจ้งที่จะแยกสัญญาออกแต่ละส่วน เมื่อจำเลยมิได้ใช้อุปกรณ์ภายในห้องชุดและบริการแล้ว โจทก์ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายรายการดังกล่าว โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยทำสัญญาเช่าห้องชุดในอาคารชุดเลขที่ 1204 ชั้น 12 ของโจทก์ อัตราค่าเช่าเดือนละ 39,270 บาทค่าเช่าใช้อุปกรณ์ในห้องเดือนละ 16,830 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 56,100 บาท มีกำหนดเวลาเช่า 3 ปี ตามสัญญาเช่าและภาคผนวกพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5นอกจากนี้จำเลยทำสัญญาขอใช้บริการต่าง ๆ ในอาคารชุดที่เช่า เช่น การใช้ไฟฟ้าน้ำประปา เครื่องปรับอากาศและลิฟต์ เป็นต้น ในอัตราค่าใช้บริการเดือนละ 56,100 บาทมีกำหนดระยะเวลาเช่นเดียวกับสัญญาเช่าด้วยตามสัญญาบริการและภาคผนวกพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 โดยจำเลยได้วางเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาและประกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นไว้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 336,600 บาท จำเลยเช่าห้องชุดในอาคารที่เช่าเพียง 1 ปี 6 เดือน แล้วย้ายออกจากห้องชุดที่เช่าโดยโจทก์ไม่ยินยอม จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้ว่า โจทก์เสียหายเพียงใดและเงินจำนวน 336,600 บาท ที่จำเลยวางไว้แก่โจทก์เป็นเงินมัดจำหรือไม่และโจทก์มีสิทธิที่จะริบเงินจำนวนดังกล่าวโดยไม่ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากค่าเสียหายหรือไม่…

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่าเงินจำนวน 336,600 บาท ที่จำเลยวางประกันไว้กับโจทก์เป็นมัดจำหรือไม่และโจทก์มีสิทธิริบเงินดังกล่าวโดยไม่ต้องนำมาหักออกจากค่าเสียหายหรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 วางหลักว่ามัดจำ หมายถึงสิ่งที่ให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้วเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย แต่ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.4 ข้อที่ 5 แม้จะใช้ข้อความว่า เงินจำนวน 336,600 บาท เป็นเงินมัดจำ แต่ก็มีข้อความว่าเงินจำนวนดังกล่าววางไว้เพื่อค้ำประกันว่าจำเลยจะชำระเงินค่าเช่า ค่าเช่าอุปกรณ์ตามกำหนดและเพื่อเป็นหลักประกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้ให้เช่า เงินที่วางไว้ไม่นับเป็นการชำระค่าเช่า ค่าเช่าใช้อุปกรณ์เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่วางเพื่อป้องกันความเสียหายแก่โจทก์ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยไม่ชำระค่าเช่า ค่าเช่าใช้อุปกรณ์ หรือความเสียหายอื่น ๆ ซึ่งโจทก์อาจจะหักจากเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระได้ แล้วจำเลยต้องนำเงินมาวางประกันเพิ่มให้ครบเท่านั้น ทั้งตามสัญญายังได้กำหนดให้คืนเงินดังกล่าวให้ผู้เช่าในวันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดเมื่อผู้เช่าได้ชำระหนี้ค่าน้ำประปา ไฟฟ้าและโทรศัพท์และค่าใช้จ่ายหรือความเสียหายที่ถึงกำหนดชำระและพึงชำระแก่ผู้ให้เช่าครบถ้วน เงินจำนวนดังกล่าวจึงมิใช่สิ่งที่จำเลยให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าสัญญาได้ทำขึ้นแล้ว หรือเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาจึงมิใช่มัดจำ ดังนั้นแม้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงเพราะจำเลยผิดสัญญาโจทก์ก็ไม่มีสิทธิริบเงินจำนวนดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาเกี่ยวกับค่าเสียหายนั้นเห็นว่าเมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าโดยเช่าห้องชุดเพียง 1 ปี 6 เดือน ไม่ครบ 3 ปีตามสัญญาเช่า และตามสัญญาบริการเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 3 มีข้อความระบุว่า การฝ่าฝืนสัญญาเช่าหรือสัญญาบริการฉบับใดฉบับหนึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนสัญญาอีกฉบับหนึ่งด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยผิดสัญญาเช่าจำเลยย่อมผิดสัญญาบริการด้วยความเสียหายของโจทก์จึงเกิดขึ้นทั้งตามสัญญาเช่าและสัญญาบริการเพราะถ้าจำเลยไม่ผิดสัญญาเช่าโจทก์ย่อมได้รับทั้งค่าเช่าและค่าบริการจากจำเลย ค่าเสียหายของโจทก์จึงรวมทั้งค่าเช่า ค่าเช่าอุปกรณ์ในห้องชุดและค่าบริการ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยออกจากห้องชุดที่เช่าแล้ว จำเลยไม่ได้ใช้อุปกรณ์หรือบริการของโจทก์อีก โจทก์จึงไม่มีความเสียหายในส่วนนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาส่วนนี้ของโจทก์ฟังขึ้น มีปัญหาว่าโจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเท่าใด เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือขอเจรจาเลิกการเช่ากับโจทก์ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2541 แล้วได้เจรจาเพื่อขอเลิกการเช่าเรื่อยมา จนวันที่ 27เมษายน 2541 จำเลยแจ้งโจทก์เป็นหนังสือขอเลิกการเช่าแล้วย้ายออกจากห้องชุดที่เช่าในวันที่ 30 เมษายน 2541 แสดงว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยต้องการเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ โจทก์ย่อมสามารถเตรียมจัดหาผู้เช่ารายใหม่แล้วบอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยได้เพื่อบรรเทาความเสียหายแต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป ทำให้ความเสียหายเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา ถือได้ว่าโจทก์ไม่พยายามบรรเทาความเสียหายตามที่สมควรกระทำได้ โจทก์จึงมีส่วนผิดด้วยในความเสียหายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 6 เดือน เดือนละ 112,200 บาท รวมเป็นเงิน 673,200 บาทเมื่อหักเงินที่จำเลยวางประกันไว้กับโจทก์จำนวน 336,600 บาท แล้วจำเลยยังต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์อีกจำนวน 336,600 บาท”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 336,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share