คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2234/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สินสอดที่เป็นทองรูปพรรณหนัก 12 บาท และของหมั้นรวม 5 รายการเป็นสินส่วนตัวของโจทก์อยู่แล้ว เมื่อโจทก์ขอคืนแต่จำเลยไม่ยอมคืนโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ย แต่หนี้ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวคืนโจทก์ไม่ใช่หนี้เงิน จึงคิดดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องไม่ได้ต้องคิดดอกเบี้ยในราคาทรัพย์นับแต่วันฟ้อง ส่วนสร้อยคอกับสร้อยข้อมือที่ได้มาในวันแต่งงานนั้น เป็นทรัพย์ที่โจทก์กับจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันตั้งแต่ก่อนวันฟ้อง หากมีการใช้ราคา โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในราคาทรัพย์นับแต่วันฟ้องเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายต่อมามีเหตุทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ โจทก์ต้องกลับไปอยู่บ้านโจทก์ โจทก์ขอให้จำเลยส่งมอบของหมั้น เงินสินสอดและส่วนแบ่งเงินสินสมรสแก่โจทก์ จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวรวมราคา 406,600 บาท แก่โจทก์ หากส่งมอบไม่ได้ให้ใช้ราคาทรัพย์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2529 ถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 410,666 บาทให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 406,600 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ของหมั้นและเงินสินสมรสมีไม่ถึงที่ฟ้องสินสอดที่เป็นเงินกับเงินสินสมรสโจทก์กับจำเลยตกลงกันให้นำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานฉลองการสมรส ส่วนที่เหลือร่วมกันใช้จ่ายไปจนหมดแล้ว ของหมั้นกับสินสอดที่ไม่ใช่เงินโจทก์นำติดตัวไปด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบทองรูปพรรณที่ใช้เป็นสินสอดหนัก 12 บาท แหวนเพชร 1 วง สร้อยข้อมือเพชร 1 เส้น ต่างหู(ที่ถูกตุ้มหู) เพชร 1 คู่ สร้อยคอทองคำครึ่งเส้น สร้อยข้อมือทองคำครึ่งเส้นและเงินสด 110,089 บาท ถ้าส่งมอบทรัพย์ที่เป็นเครื่องเพชรและเครื่องทองไม่ได้ให้ใช้เงินแทนโดยกำหนดให้ทองรูปพรรณหนัก12 บาท เป็นเงิน 52,800 บาท แหวนเพชร 1 วง สร้อยข้อมือเพชร1 เส้น และต่างหู (ที่ถูกตุ้มหู) เพชร 1 คู่ รวมเป็นเงิน 6,000 บาทสร้อยคอทองคำครึ่งเส้นเป็นเงิน 4,400 บาท และสร้อยข้อมือทองคำครึ่งเส้นเป็นเงิน 2,200 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ของหมั้น 5 รายการ ตามฟ้องคิดเป็นราคา 247,000 บาท กับสินสอดรวมราคา 132,000 บาท และเงินส่วนแบ่งสินสมรสจำนวน 26,000 บาทให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบสิ่งของได้ให้ใช้ราคาเป็นเงินรวม410,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน406,666 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในการใช้ราคาของหมั้นและทรัพย์อื่นถ้าหากไม่สามารถคืนทรัพย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า สินสอดที่เป็นทองรูปพรรณหนัก 12 บาท และของหมั้นรวม 5 รายการเป็นสินส่วนตัวของโจทก์อยู่แล้ว เมื่อโจทก์ขอคืนแต่จำเลยไม่ยอมคืนโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ย หนี้ส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวคืนโจทก์ไม่ใช่หนี้เงิน จึงคิดดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องไม่ได้ต้องคิดดอกเบี้ยในราคาทรัพย์นับแต่วันฟ้อง ส่วนสร้อยคอกับสร้อยข้อมือที่ได้มาในวันแต่งงานนั้นเป็นทรัพย์ที่โจทก์กับจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันตั้งแต่ก่อนวันฟ้อง หากมีการใช้ราคา โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในราคาทรัพย์นับแต่วันฟ้องเช่นเดียวกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2นอกจากเงินสินสอด 80,000 บาท และเงินที่ได้ในวันแต่งงาน20,000 บาท หากจำเลยส่งมอบให้โจทก์ไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงินรวม 306,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share