คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ได้ตกลงแบ่งขายที่ดินมีโฉนดของโจทก์ให้แก่จำเลยเป็นเนื้อที่ 6 ไร่ โดยให้จำเลยเข้าชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดที่ดินดังกล่าวตามส่วน ต่อมามีการรังวัดแบ่งแยกโฉนดออกเป็นส่วนของจำเลย ปรากฏว่าเนื้อที่ดินตามโฉนดที่ออกให้แก่จำเลยมีจำนวน 6 ไร่ 1 งาน 22 ตารางวา เกินกว่าที่ตกลงซื้อขายเดิมโจทก์จึงฟ้องเรียกที่ดินส่วนที่เกินคืนจากจำเลย ดังนี้ กรณีหาใช่เป็นการฟ้องให้รับผิดในการส่งมอบทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 467 ไม่ จึงนำอายุความตามมาตรานี้มาใช้ปรับแก่คดีตามข้อตัดฟ้องของจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 393จังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2507 ได้ทำนิติกรรมโอนขายและจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองเข้าชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมเฉพาะส่วน จำนวน 6 ไร่ครั้นต่อมาปี 2513 ได้ทำการแบ่งแยกส่วนของจำเลยออกเป็นโฉนดเลขที่ 10028 จึงปรากฏว่ามีจำนวนเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 22 ตารางวาซึ่งเกินไปจากข้อตกลงตามสัญญาซื้อขาย 1 งาน 22 ตารางวา ขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินจำนวน 1 งาน 22 ตารางวา ส่วนที่เกินอยู่ในโฉนดเลขที่ 10028 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยแบ่งแยกส่วนด้านติดต่อกับที่ดินโจทก์คืน และให้จำเลยรับผิดค่าใช้จ่ายตลอดจนค่าธรรมเนียมการโอน

จำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ตกลงซื้อขายที่ดินตามฟ้องจริง แต่ตอนเจ้าพนักงานไปรังวัดแบ่งแยกเมื่อปี 2508 ได้มีการกำหนดเขตลงหลักหิน ซึ่งโจทก์ก็ทราบถึงจำนวนเนื้อที่แน่นอนแล้วว่ามีเนื้อที่ดินที่จะขายถึง 6 ไร่ 1 งาน 22 ตารางวา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องคืนและตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 ขอให้ยกฟ้อง

ในวันชี้สองสถาน จำเลยแถลงขอถือเอาเรื่องอายุความเป็นข้อต่อสู้เพียงประเด็นเดียว

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ 10028 จำนวนเนื้อที่ 1 งาน 22 ตารางวา ให้จำเลยแบ่งแยกโฉนดโอนให้โจทก์ หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ ให้ประมูลระหว่างคู่ความหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนค่าใช้จ่ายออกฝ่ายละครึ่ง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 2507โจทก์ได้ตกลงแบ่งขายที่ดินโฉนดเลขที่ 393 ของโจทก์ให้แก่จำเลยมีจำนวนเนื้อที่ 6 ไร่ หรือเป็นจำนวน 2400 ส่วนใน 15868 ส่วน โดยให้จำเลยเข้าชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดที่ดินดังกล่าวตามส่วน ต่อมามีการขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดออกเป็นส่วนของจำเลย ซึ่งได้ทำการรังวัดกันหลายครั้งหลายคราวกว่าจะทำการรังวัดแบ่งแยกออกเป็นโฉนดใหม่ตามโฉนดเลขที่ 10028 ให้แก่จำเลยได้เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2513 ปรากฏว่าจำนวนเนื้อที่ดินตามโฉนดที่ออกให้แก่จำเลยมีจำนวน 6 ไร่ 1 งาน 22 ตารางวา เกินกว่าที่ตกลงซื้อขายเดิมถึง1 งาน 22 ตารางวา และโจทก์เพิ่งทราบเรื่องนี้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม2513 ครั้นวันที่ 9 มีนาคม 2514 โจทก์ก็มาฟ้องเรียกส่วนที่เกินคืนดังนี้ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์จำเลยมีเจตนาซื้อขายที่ดินกันเพียง 6 ไร่ เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้จำเลยทั้งสองตามโฉนดเป็น 6 ไร่ 1 งาน 22 ตารางวา เกินกว่าที่ตกลงกันไป 1 งาน 22 ตารางวา จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดถือเอาส่วนที่เกินนั้นไว้เป็นของตนได้ และโจทก์เพิ่งทราบจำนวนเนื้อที่ดินดังกล่าวแน่นอนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2513 โจทก์ย่อมฟ้องเรียกที่ดินส่วนที่เกินคืนจากจำเลยทั้งสองได้ กรณีหาใช่เป็นการฟ้องให้รับผิดในการส่งมอบทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 ไม่ คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

Share