คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มรดกหรือการแบ่งมรดกจะมีขึ้นได้ต่อเมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย ฉะนั้น เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายในขณะใช้กฎหมายใด ก็ต้องตกอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น
เป็นสามีภริยากันมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5-6 แต่ตายจากกันภายหลังใช้ บรรพ 5-6 แล้วต้องแบ่งมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกว่า นายเจริญ บิดาโจทก์มีภริยา ๕ คน และต่างมีบุตรด้วยกัน ขณะที่นายเจริญมีชีวิตอยู่ บรรดาภริยาและบุตรต่างก็ปลูกเรือนและอาศัยทำกินในนาที่พิพาท เมื่อนายเจริญตายแล้ว บรรดาบุตรทุกคนก็ยังคงอาศัยทำกินในที่พิพาทตลอดมา ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่พิพาทให้ลูกของตนเท่านั้น จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของบิดาโจทก์ ขอให้แบ่งให้โจทก์แต่ละคนให้ได้รับคนละ ๑ ใน ๑๔ ส่วน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งที่พิพาทออกเป็น ๑๔ ส่วน ให้โจทก์ได้คนละ ๑ ใน ๑๔ ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ให้ประมูลระหว่างผู้รับมรดกก่อน หากไม่สามารถจะทำได้ก็ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์คนละ ๑ ใน ๑๔ ส่วน
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อ ๕ ของจำเลยที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยกับนายเจริญเป็นสามีภริยากันก่อนภริยาคนอื่น ๆ จำเลยจึงเป็นภริยาหลวง แม้นายเจริญจะตายภายหลังใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๖ ก็ตาม ก็ต้องแบ่งมรดกตามกฎหมายมรดก และบุตรของจำเลยซึ่งเป็นภริยาหลวงก็ย่อมได้ส่วนแบ่งตามกฎหมายมรดกเช่นเดียวกัน
ศาลฎีกาเห็นว่า มรดกหรือการแบ่งมรดกจะมีขึ้นได้ต่อเมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย ฉะนั้น เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายในขณะใช้กฎหมายใด ก็ต้องตกอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น คดีนี้นายเจริญเจ้ามรดกตายเมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ แล้ว จึงต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ บังคับ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share