คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2530

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ไม้ของกลางของ ท. ซึ่งเป็นไม้ที่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายถูกส่งไปที่โรงงานของจำเลยซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปไม้เพื่อทำเป็นเครื่องเรือนสำเร็จรูปตามคำสั่งของท. จำเลยทำไม้แล้วส่งต่อไปยังบริษัท ม. จำกัดเพื่อบรรจุหีบห่อ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าไม้ของกลางยังเป็นไม้แปรรูปไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ จำเลยส่งไม้ออกไปที่อื่นจึงเป็นการจำหน่ายหรือโอนออกไปเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดฉบับที่ 6(พ.ศ. 2520) ข้อ 15 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 มาตรา 58,73 ทวิ และความผิดดังกล่าวโจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใด บรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามตามมาตรา 47 และ53 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 58, 73 ทวิ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ1,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมไม้สักแปรรูปของกลางเป็นของนางทัศนีย์ เพชรแก้วกุล ซื้อมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดชลหนี เป็นไม้ที่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย และห้างหุ้นส่วนจำกัดชลหนีได้ออกใบเสร็จรับเงินและออกหนังสือกำกับไม้ไปที่บริษัทอุตสาหกรรมมอบไม้อิมเปคโก จำกัดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14 เมื่ออบไม้เสร็จแล้วบริษัทอุตสาหกรรมมอบไม้อิมเปคโก จำกัด ได้ออกหนังสือกำกับไม้แปรรูปเอกสารหมาย จ.15 ส่งไม้มาที่โรงงานสีน้ำเงินการช่างของจำเลยตามคำสั่งของนางทัศนีย์เพื่อให้จำเลยผู้รับจ้างทำตามแบบซึ่งอ้างว่าเป็นการทำหน้าต่าง บานเกล็ด บานประตู และคิ้ว ที่สามารถถอดเป็นชิ้นส่วน เป็นเครื่องเรือนสำเร็จรูปซึ่งจะนำไปประกอบที่ประเทศญี่ปุ่น จำเลยได้ทำไม้ดังกล่าวแล้วก็ส่งไม้ดังกล่าวมายังบริษัทบุญมามูฟอิงแอนด์สโตเรจ จำกัดหรือบริษัทบุญมาคาร์โก้ จำกัด เพื่อทำการบรรจุหีบห่อโดยออกหนังสือกำกับไม้เอกสารหมาย จ.19 ไปว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม 2523 ผู้เชี่ยวชาญศาลในทางพิสูจน์ไม้ได้ไปตรวจพิสูจน์แล้วปรากฏว่าเป็นไม้แปรรูปไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ มีปัญหาว่าการที่จำเลยส่งไม้ของกลางไปที่บริษัทบุญมามูฟอิงแอนด์สโตเรจ จำกัด จำเลยจะมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนด ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2520) ข้อ 15 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ และผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484มาตรา 58, 73 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518มาตรา 23, 27 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522มาตรา 8 หรือไม่ เห็นว่าข้อกำหนดฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2520) ข้อ 15ผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้เพื่อประดิษฐ์กรรมด้วยเครื่องจักรจะจำหน่ายหรือโอนหรือนำออกจากโรงงานได้เฉพาะสิ่งที่ประกอบเป็นวัตถุประดิษฐ์หรือสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูปตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตและหลักฐานในการอนุญาตเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าไม้ของกลางยังเป็นไม้แปรรูปอยู่ จำเลยส่งไม้ออกไปที่อื่นจึงเป็นการจำหน่ายหรือโอนออกไป จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิจำหน่ายหรือโอนไม้แปรรูปได้เพราะกฎกระทรวงฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2519) ข้อ 5 ระบุว่า”ผู้ใดได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้หรือได้รับอนุญาตให้ทำการแปรรูปไม้เพื่อการค้า ถ้าผู้นั้นทำการค้าไม้แปรรูปในบริเวณเดียวกันกับที่ตั้งโรงงานแปรรูปไม้หรือในบริเวณเดียวกันกับที่ทำการแปรรูปไม้เพื่อการค้า ไม่ต้องมีใบอนุญาตตั้งโรงค้าไม้แปรรูปอีก” จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องนั้นเห็นว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตค้าไม้แปรรูปได้ แต่คดีนี้จำเลยมิได้ค้าไม้แปรรูปของกลาง จำเลยฝ่าฝืนจำหน่ายหรือโอนไม้ของกลางที่ยังมิได้เป็นสิ่งที่ประกอบเป็นวัตถุประดิษฐ์หรือสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูปตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ข้ออ้างข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม ตามมาตรา 47และมาตรา 53 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ความผิดที่จะต้องบรรยายถึงฟ้องถึงเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และเขตควบคุมสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใด บรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม ตามฎีกาของจำเลยนั้น จะต้องเป็นความผิดตามมาตรา 48แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19 หรือความผิดตามมาตรา 53 ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2518 มาตรา 21 แล้วแต่กรณี แต่คดีนี้เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดอันเป็นความผิดตามมาตรา 58, 73 ทวิ โจทก์จึงไม่ต้องบรรยายฟ้องตามที่จำเลยฎีกามาแต่อย่างใด ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share