คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2530

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องเป็นการแจ้งความในลักษณะของการกล่าวหาโดยมีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี เมื่อบันทึกการแจ้งความมีข้อความแสดงชัดว่าในขณะที่แจ้งโจทก์ไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย ซึ่งถือว่าไม่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย การที่โจทก์มาฟ้องคดีเองในภายหลัง ก็หามีผลให้คำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวกลับกลายเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่ โจทก์แจ้งความว่า จึงมอบอำนาจให้ผู้แจ้งมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อประสงค์ให้จำเลยได้รับโทษตามกฎหมายและโจทก์ประสงค์ขอรับเช็คของกลางคืนไปเพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับจำเลยและผู้เกี่ยวข้องในทางศาลเองต่อไป โดยไม่ขอมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแต่อย่างใด ดังนี้แม้แจ้งความดังกล่าวมีข้อความว่า มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อประสงค์ให้จำเลยรับโทษตามกฎหมาย แต่ก็มีข้อความต่อไปว่าโจทก์ขอรับเช็คคืนเพื่อดำเนินการฟ้องร้องเองจึงเห็นเจตนาของโจทก์ได้ว่าไม่ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย แจ้งความดังกล่าวจึงไม่ใช่คำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าข้อความตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.7 เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าตามหลักฐานการแจ้งความร้องทุกข์ เอกสารหมาย จ.7 ฟังได้ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษพิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) วิเคราะห์ศัพท์คำว่า”คำร้องทุกข์” ไว้ว่า หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ จากรายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความว่า “จึงมอบอำนาจให้ผู้แจ้งมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อประสงค์ให้นายทรงฤทธิ์อุทัยวัฒนาพงศ์ ได้รับโทษตามกฎหมาย และทางบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด ประสงค์ขอรับเช็คของกลางสองฉบับคืนไปเพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับนายทรงฤทธิ์อุทัยวัฒนาพงศ์ และผู้เกี่ยวข้องในทางศาลเองต่อไป โดยไม่ขอมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแต่อย่างใด” ศาลฎีกาเห็นว่าตามรายงานประจำวันดังกล่าว แม้จะมีข้อความว่า มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อประสงค์ให้จำเลยรับโทษตามกฎหมาย แต่ก็มีข้อความต่อไปอีกว่า โจทก์ประสงค์ขอรับเช็คของกลางคืนไป เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับจำเลยและผู้เกี่ยวข้องในศาลเองต่อไปแสดงว่าในขณะที่แจ้งความนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลย เพราะข้อความที่ว่าโจทก์ขอรับเช็คคืนไปเพื่อดำเนินการฟ้องร้องเองเท่ากับย้ำให้เห็นเจตนาของโจทก์ผู้แจ้งว่า ไม่ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป รายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.7จึงมิใช่คำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7)
ที่โจทก์ฎีกาสรุปความได้ว่า โจทก์ร้องทุกข์ดังกล่าวโดยเจตนาที่จะนำคดีมาฟ้องเสียเอง และต่อมาโจทก์ก็นำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาล ถือได้ว่าการแจ้งความของโจทก์ได้กระทำโดยมีเจตนาให้จำเลยได้รับโทษ จึงเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว เห็นว่าการร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องเป็นการแจ้งความในลักษณะของการกล่าวหาโดยมีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี เมื่อบันทึกการแจ้งความมีข้อความแสดงชัดว่าในขณะที่แจ้งโจทก์ไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลย การที่โจทก์มาฟ้องคดีเองในภายหลัง หามีผลทำให้คำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวกลับกลายเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share