คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะปรับบทว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ชอบที่จะต้องพิจารณาในฐานความผิดเป็นกระทงๆ ไป เสมือนมิได้รวมแต่ละกระทงความผิดฟ้องมาในคดีเดียวกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 กระทงหนึ่ง และผิดฐานขับขี่รถโดยไม่มีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติรถยนต์ฯ มาตรา 16, 33อีกกระทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษฐานขับรถโดยประมาทซึ่งเป็นกระทงหนักแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลดโทษให้แล้วคงจำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ฟังว่ารูปคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยประมาทพิพากษาแก้ให้ปรับจำเลย 50 บาท ตามพระราชบัญญัติรถยนตร์มาตรา 16,33 นอกนั้นให้ยกเสีย ดังนี้ ในกระทงความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นพิพากษากลับกันตรงข้ามนั้น ไม่ใช่เป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขตามนัยแห่งกฎหมาย จึงปรับบทให้ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหาได้ไม่ โจทก์ชอบที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในกระทงความผิดฐานนี้ได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 6/2507)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์บรรทุกเลขหมาย น.บ.00465จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับขี่ ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์เลขหมาย ก.ท.19601 มีเด็กชายเส็งนั่งซ้อนท้าย จำเลยที่ 2 ได้ขับขี่รถดังกล่าวมาทางเดียวกันถึงสี่แยกจักรวรรดิ์ ได้หยุดรถรอสัญญาณโดยจอดคู่กันอยู่ในช่องทางสำหรับรถเดินทางตรงไปสี่แยก เอส.เอ.บี.เมื่อสัญญาณให้ผ่านได้ จำเลยทั้งสองจึงได้ขับรถออกแล่นตรงไปขับรถขนานชิดกันไม่ขับให้ห่างกันตามสมควร รถทั้งสองจึงได้เบียดกระทบกันทำให้รถจำเลยที่ 2 เสียการทรงตัวและล้มลง เป็นเหตุให้เด็กชายเส็งตกลงมาถูกรถยนต์จำเลยที่ 1 ทับถึงแก่ความตาย และจำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสถึงขา หัก ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2472 ฯลฯ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 ฯลฯ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ขับขี่จริง

ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ประกอบกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 29, 66 แก้ไข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 มาตรา 4กระทงหนึ่ง และผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 16, 33อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกระทงหนักกระทงเดียวตามมาตรา 91 โดยให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน ลด 1 ใน3 ตามมาตรา 76 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดให้ยกฟ้องปล่อยตัวไป

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า รูปคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทพิพากษาแก้ให้ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 50 บาท ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 16, 33 ฐานขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่มีใบอนุญาต นอกนั้นให้ยกเสีย

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาว่า ฎีกาของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 หรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ลงโทษจำเลยฐานทำให้คนตายโดยประมาทด้วย คงลงโทษเฉพาะฐานขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตฐานเดียวเช่นนี้ แม้จะได้ชื่อว่าพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็เป็นเพียงการใช้ถ้อยคำให้เข้ากับแบบของคำพิพากษาเท่านั้น ส่วนเนื้อแท้ของคดีย่อมเห็นอยู่ชัด ๆ ว่า ในส่วนความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นพิพากษากลับกันตรงกันข้ามทีเดียว หาใช่พิพากษาแก้น้อยแก้มากอย่างใดไม่ เมื่อเนื้อแท้ของคดีเป็นดังนี้จะปรับบทว่าคดีต้องห้ามฎีกาหรือไม่ จึงชอบที่จะต้องพิจารณาในฐานความผิดเป็นกระทง ๆ ไป เสมือนมิได้รวมแต่ละกระทงความผิดฟ้องมาในคดีเดียวกัน เพราะตามกฎหมายโจทก์จะฟ้องแต่ละกระทงความผิดรวมในคดีเดียวกันได้ หรือจะแยกแต่ละกระทงความผิดฟ้องเป็นคดี ๆ ไปก็ได้ และไม่มีเหตุอันชอบด้วยความเป็นธรรมอย่างใดที่จะให้ข้อจำกัดฎีกาต้องแตกต่างกันเป็นว่าในกรณีที่รวมฟ้องเป็นคดีเดียวกันแล้วต้องห้ามมิให้ฎีกา ส่วนแยกฟ้องเป็นคดี ๆ หาต้องห้ามฎีกาไม่ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงมีมติว่าคดีนี้ เฉพาะในกระทงความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นกลับกันตรงข้ามมานั้น ไม่ใช่เป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขตามนัยแห่งกฎหมาย จึงปรับบทให้ต้องห้ามฎีกาตาม มาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหาได้ไม่ ชอบที่โจทก์จะฎีกาได้ไม่ว่าในปัยหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปแล้วฟังว่า จำเลยที่ 2 ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอแก่วิสัยและพฤติการณ์ในขณะที่ขับขี่รถไปนั้น จนเป็นเหตุให้เด็กชายเส็งถึงแก่ความตาย พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ด้วยอีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ตามมาตรา 56 มีกำหนด 3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์

Share