คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2570/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายจนฟันหลุดไป 1 ซี่ และจำเลยที่ 2 ใช้ให้ บ.ทำร้ายผู้เสียหายจนฟันหลุดไป 2 ซี่ เมื่อถูกทำร้ายแล้วผู้เสียหายเพียงแต่รับประทานอาหารไม่ได้ตามปกติเท่านั้น ยังใช้ฟันที่เหลือเคี้ยวอาหารได้อยู่บ้าง แต่ไม่อาจเคี้ยวได้เหมือนเดิม ส่วนที่ผู้เสียหายว่าป่วยเจ็บเกิน 20 วัน ก็ไม่ได้ความว่าป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา ดังนี้ยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๙๕, ๒๙๗, ๒๙๘, ๓๐๙, ๓๑๐, ๓๑๒, ๘๐, ๘๓, ๙๑
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันใช้ไม้ไผ่และสันมีดทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส และร่วมกันเป็นตัวการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนฟันหัก ๓ ซี่ จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส และจำเลยที่ ๑ ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗, ๘๓, ๙๑ ให้เรียงกระทงลงโทษกระทงที่ ๑ จำคุกคนละ ๒ ปี กระทงที่ ๒ จำคุกคนละ ๓ ปีและกระทงที่ ๓ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๒ ปี รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๗ ปี จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๕ ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานใช้ไม้ตีและใช้กระป๋องร้อนๆ นาบผู้เสียหาย จำคุกจำเลยที่ ๑ กระทงละ ๑ ปี รวม ๒กระทง เป็นจำคุก ๒ ปี ยกข้อหาอื่น ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้องโจทก์ทุกข้อหา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างที่ผู้เสียหายทำงานเป็นเด็กรับใช้อยู่ในบ้านจำเลยนั้น จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใช้ไม้ไผ่ตีทำร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ ๑ ใช้กระดาษจุดไฟใส่กระป๋องเหล็กนาบผู้เสียหายจนได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ ๑ ทำร้ายผู้เสียหายจนฟันหลุดไป ๑ ซี่ และจำเลยที่ ๒ ได้ใช้ให้เด็กหญิงบัวลอยทำร้ายผู้เสียหายจนฟันหลุดไป ๒ ซี่ แต่เนื่องจากการพิจารณาได้ความจากผู้เสียหายว่า เมื่อถูกทำร้ายจนฟันหลุดดังกล่าวแล้ว ผู้เสียหายเพียงแต่รับประทานอาหารไม่ได้ตามปกติเท่านั้น ซึ่งย่อมหมายความว่าผู้เสียหายยังใช้ฟันที่เหลือเคี้ยวอาหารได้อยู่บ้าง แต่ไม่อาจเคี้ยวได้เหมือนเดิม ส่วนที่ผู้เสียหายว่าป่วยเจ็บเกิน ๒๐ วัน ก็ไม่ได้ความว่าป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสดังฟ้องโจทก์ จำเลยที่ ๑ คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ และจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ประกอบด้วยมาตรา ๘๔ อีกกระทงหนึ่งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ จำคุก ๑ ปี กระทงหนึ่งกับมีความผิดใช้ผู้อื่นให้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ประกอบด้วยมาตรา ๘๔ จำคุก ๓ เดือนอีกกระทงหนึ่ง และจำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ อีกกระทงหนึ่งจำคุก ๓ เดือน รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๒ ปี ๓ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด๑ ปี ๓ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share