แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในชั้นยื่นคำฟ้อง แม้ทนายความ ซึ่ง อ. เป็นผู้แต่ง ตั้งให้เป็นทนายความของโจทก์จะได้ลงชื่อในคำฟ้องในฐานะโจทก์ โดยโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ อ. ฟ้องจำเลยและดำเนินคดีแทนโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้ตรวจและมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้ และจำเลยได้ยื่นคำให้การแล้ว ซึ่งเป็นกรณีล่วงเลยชั้นตรวจรับฟ้อง จึงนำป.วิ.พ. มาตรา 18 มาใช้บังคับไม่ได้ เมื่อไม่มีการชี้ สองสถานโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานโจทก์เป็นว่ามอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ ซึ่งมีผลทำให้ฟ้องที่ไม่สมบูรณ์กลับเป็นฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ทั้งนี้อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 66ซึ่งให้อำนาจศาลไว้ว่า ถ้า มีผู้อ้างว่าเป็นผู้แทนของนิติบุคคลเมื่อศาลเห็นสมควรก็สอบสวนได้เป็นอำนาจที่กฎหมายให้ไว้แก่ศาลโดยกว้างขวาง เมื่อใดศาลเห็นว่าผู้นั้นไม่มีอำนาจดัง ที่อ้างหรืออำนาจบกพร่อง ศาลย่อมมีอำนาจยกฟ้อง หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ในนามของห้างจำเลยที่ 1 โดยลงชื่อตนเองและประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนห้างจำเลยที่ 1 นั้นได้ยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อให้โจทก์ถึง 4 งวด โดยมิได้ท้วงติงแต่ประการใด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์เมื่อห้างจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวตามป.พ.พ. มาตรา 1088.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องถ่ายเอกสารโดยขอให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 21,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายวันละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งเครื่องถ่ายเอกสารที่เช่าซื้อคืนโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบเครื่องถ่ายเอกสารที่เช่าซื้อในสภาพที่เรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน 44,174.40 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เช่าซื้อเครื่องถ่ายเอกสารตามฟ้อง จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบเครื่องถ่ายเอกสารที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบเครื่องถ่ายเอกสารคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย แต่ทั้งนี้ค่าเสียหายต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อที่จำเลยยังค้างชำระโจทก์อยู่ คือ 44,174 บาท ถ้าหากจำเลยทั้งสองไม่สามารถส่งคืนเครื่องถ่ายเอกสารให้แก่โจทก์ได้ก็ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน44,174 บาท และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาทแทนโจทก์ด้วย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์มอบอำนาจให้นางสาวหรรษา สังวสันต์ เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ แต่ในคำฟ้องและในใบแต่งทนายความของโจทก์ กลับมีชื่อนายอุดม ฟู่เจริญเป็นผู้รับมอบอำนาจและเป็นผู้ลงชื่อในใบแต่งทนายความ ศาลรับฟ้องของโจทก์ไว้เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 เพราะเป็นคำฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ และโจทก์ขอแก้ไขฟ้องเมื่อล่วงเลยชั้นตรวจคำฟ้องแล้ว ศาลไม่มีอำนาจอนุญาต ต้องยกฟ้องนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ตรวจและมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำให้การแล้ว ซึ่งเป็นกรณีล่วงเลยชั้นตรวจรับฟ้อง จึงจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 มาใช้บังคับไม่ได้ คดีนี้ไม่มีการนัดชี้สองสถาน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลจึงมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ ส่วนบทกฎหมายที่นำมาใช้บังคับในกรณีนี้ได้แก่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 66 ซึ่งให้อำนาจศาลไว้ว่า ถ้ามีผู้อ้างว่าเป็นผู้แทนของนิติบุคคลเมื่อศาลเห็นสมควรก็สอบสวนได้เป็นอำนาจที่กฎหมายให้ไว้แก่ศาลโดยกว้างขวาง เมื่อใดศาลเห็นว่าผู้นั้นไม่มีอำนาจดังที่อ้างหรืออำนาจบกพร่อง ศาลมีอำนาจยกฟ้องหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ในกรณีนี้แม้ในชั้นยื่นคำฟ้อง นายวิศณุ ศิริจันทร์ซึ่งนายอุดม ฟู่เจริญ แต่งตั้งให้เป็นทนายความของโจทก์จะได้ลงชื่อในคำฟ้องในฐานะโจทก์ โดยโจทก์มิได้มอบอำนาจให้นายอุดมฟ้องจำเลยและดำเนินคดีแทนโจทก์ก็ตาม แต่ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2526 ศาลชั้นต้นตรวจพบว่าโจทก์มิได้มอบอำนาจให้นายอุดมฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลย จึงมีคำสั่งให้โจทก์ส่งหนังสือมอบอำนาจที่มอบอำนาจให้นายอุดมต่อศาล แสดงให้เห็นว่าศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมสมควรให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องให้ฟ้องสมบูรณ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นและต่อมาโจทก์ก็ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเป็นว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายอุดมเป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยแทนโจทก์ พร้อมทั้งส่งหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมายจ.2 ต่อศาลชั้นต้นด้วย ปรากฏตามคำร้องแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ลงวันที่21 กุมภาพันธ์ 2526 ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้จำเลยแล้วจำเลยแถลงไม่ค้าน ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ตามคำร้อง ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 9 มีนาคม 2526 ดังนี้จึงทำให้ฟ้องที่ไม่สมบูรณ์กลับเป็นฟ้องที่สมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ได้ระบุข้อความไว้ตอนต้นชัดเจนว่าสัญญาดังกล่าวทำกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 พร้อมกับระบุเลขทะเบียนการค้าของจำเลยที่ 1 ไว้ด้วยและตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนของจำเลยที่ 1เอกสารหมาย จ.3 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และมิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่จำเลยที่ 2ก็มีอำนาจสั่งจ่ายเงินในนามของจำเลยที่ 1 ได้โดยมีนายประกิจ แซ่ฉั่วหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ลงชื่อร่วมด้วยจะเห็นได้ว่าจำเลยที่2 เป็นหุ้นส่วนที่สำคัญคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 มิฉะนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนคน ๆ อื่น ก็ไม่ให้อำนาจเป็นผู้ร่วมควบคุมการเงินของจำเลยที่ 1 ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมายจ.4 พร้อมประทับตราของจำเลยที่ 1 ซึ่งแม้จะไม่ได้จดทะเบียนไว้ว่าในการกระทำกิจการใด ๆ ให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 จะต้องลงลายมือชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการและประทับตราของจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็มิได้คัดค้านว่าตราที่ประทับไว้ตรงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 นั้นมิใช่ตราของจำเลยที่ 1 จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ในนามของจำเลยที่ 1 นั่นเองนอกจากนี้ยังปรากฏต่อมาว่า หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4แล้ว ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์อีกถึง 4 งวด โดยไม่ปรากฏว่านายประกิจ แซ่ฉั่ว หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ท้วงติงแต่ประการใด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 บัญญัติไว้ว่า ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวนดังนั้นในการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 โดยลงชื่อตนเองและประทับตราของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น…”
พิพากษายืน.