แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 434 จะบัญญัติให้ผู้ครองหรือเจ้าของต้นไม้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตามแต่มูลละเมิดในเรื่องนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นมะพร้าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ของจำเลยโจทก์ก็มีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า เหตุที่ต้นมะพร้าวล้มจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เกิดจากความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนของจำเลยหาใช่ว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ดังกล่าวไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงพุทธศักราช 2501 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2525 ต้นมะพร้าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในความครอบครองร่วมกันของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วยความประมาทของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ไม่บำรุงรักษาและตรวจสอบว่ารากของต้นมะพร้าวดังกล่าวและพื้นดินใกล้โคนมะพร้าวนั้นว่าอยู่ในสภาพแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักของลำต้นรวมทั้งดอกผลและใบได้หรือไม่ จนเป็นเหตุให้ต้นมะพร้าวดังกล่าวล้มทับสายไฟฟ้าของโจทก์เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าดึงรั้งเสาไฟฟ้าหั 1 ต้น เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของต้นมะพร้าวตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าหรือผู้ครอบครอง ตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้องไม่มีเหตุการณ์ตามฟ้องเกิดขึ้น หากจะมีก็มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยทั้งสองเพราะต้นมะพร้าวที่โจทก์กล่าวอ้างได้รับการดูแลอย่างดีจากจำเลยทั้งสองมีความแข็งแรงมั่นคง เหตุที่ล้มก็เพราะเกิดจากลมพายุ จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะการบกพร่องในการปลูกต้นมะพร้าว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า มูลละเมิดในเรื่องนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการปลูกต้นมะพร้าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ของจำเลย ซึ่งแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 434 บัญญัติให้ผู้ครองหรือเจ้าของต้นมะพร้าวต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่โจทก์ก็มีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า เหตุที่ต้นมะพร้าวล้มจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ครั้งนี้เกิดจากความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนของจำเลยอยู่นั่นเอง หาใช่ว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ดังกล่าวไม่
พิพากษายืน