คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายที่ดินมิได้มีบทบัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้บุคคลมีสิทธิประกอบกิจการในที่ดินของรัฐได้ตามมาตรา 9 ดังนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีอำนาจอนุญาตตามมาตรา 9 ได้ก็โดยรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีอำนาจอนุญาต ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบ เมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินให้โจทก์มีสิทธิประกอบกิจการในที่ดินของรัฐ ด้วยการมีสิทธิขุดทรายในลำน้ำเจ้าพระยาแต่เพียงผู้เดียวเป็นอาณาเขต 100 ไร่ แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าคำสั่งกระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นผู้มีอำนาจอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 ด้วยหรือไม่จึงรับฟังว่ากระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 ไม่ได้และรับฟังไม่ได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งอนุญาตให้โจทก์ยึดถือครอบครองเขตขุดทรายในลำน้ำเจ้าพระยาตามคำฟ้องได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใดๆ โดยอาศัยใบอนุญาตดังกล่าว ฉะนั้น การที่จำเลยได้นำเรือเข้าไปขุดทรายในเขตที่ได้รับอนุญาต แม้จะโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและขอแก้ฟ้องใจความอย่างเดียวกันว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง โดยอาศัยมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินให้มีสิทธิประกอบกิจการในที่ดินของรัฐด้วยการมีสิทธิขุดทรายในลำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งโจทก์แต่ละคนได้รับอนุญาตคนละ 100 ไร่ มีกำหนด 1 ปี ภายหลังโจทก์ได้รับต่อใบอนุญาตอีกมีกำหนด 1 ปี การที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ขุดทรายได้นี้เป็นการได้รับอนุญาตให้ขุดทรายได้แต่ผู้เดียว ภายในเขตเนื้อที่ที่ได้รับอนุญาต ปรากฏตามหนังสือรับรองของผู้ว่าราชการจังหวัดท้ายฟ้อง ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2514จำเลยทั้ง 31 คนซึ่งไม่มีใบอนุญาตให้ขุดทรายได้ร่วมกันละเมิดสิทธิโจทก์นำเรือที่ติดตั้งเครื่องขุดทรายเข้าไปขุดทรายในบริเวณที่โจทก์ได้รับอนุญาตเป็นต้นมาจนบัดนี้เป็นการกีดขวางการขุดทรายของโจทก์ ทำให้โจทก์ทั้งสามสำนวนไม่อาจเข้าไปขุดทรายตามสิทธิได้ โจทก์ทุกสำนวนต้องขาดประโยชน์ประมาณวันละ 70,200 บาท แต่โจทก์ขอคิดในขณะนี้เพียงสำนวนละ 200,000บาท ก่อน ขอให้พิพากษาห้ามไม่ให้จำเลยและบริวารขุดทรายในที่ที่โจทก์ได้รับอนุญาต สั่งให้นำเรือ อุปกรณ์ในการขุดและบรรทุกทรายของจำเลยออกไปให้พ้นบริเวณที่โจทก์ได้รับอนุญาต ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องในบริเวณที่โจทก์ได้รับอนุญาต ให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์แต่ละสำนวนเป็นเงินสำนวนละ 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์แต่ละสำนวนวันละ 70,200 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายเรือ อุปกรณ์ในการขุดและบรรทุกทรายออกไปให้พ้นจากบริเวณที่โจทก์ได้รับอนุญาต

ก่อนสืบพยาน โจทก์ทั้งสามสำนวนขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3, 4 และ 18ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

จำเลยนอกจากที่โจทก์ถอนฟ้องให้การว่า ลำแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตตำบลที่โจทก์ฟ้อง เป็นที่ประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันใบอนุญาตที่โจทก์อ้างเป็นหลักฐานการได้สิทธิการดูดทรายในลำแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโมฆะ เพราะออกขัดกับกฎหมาย เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 10 นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 ก็มิได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเอาที่ดินของรัฐให้เอกชนคนใดยึดถือ เช่าซื้อ หรือผูกขาดเก็บผลประโยชน์แต่ผู้เดียว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่มีอำนาจหวงห้ามมิให้ผู้อื่นทำการดูดทราย จำเลยไม่เคยดูดทรายในเขตที่ดินที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง เพราะโจทก์ทั้งสามสำนวนดูดทรายอยู่ทุกวันฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า หนังสือรับรองของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ระบุว่า ให้โจทก์ทำการขุดทรายในเขตที่กำหนดได้แต่ผู้เดียว เป็นหนังสือรับรองที่ออกให้โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ แม้จำเลยจะเข้าไปขุดทรายในเขตที่โจทก์ได้รับอนุญาตโจทก์ก็เรียกร้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดไม่ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองได้อนุญาตให้โจทก์ทั้งสามขุดทรายในลำแม่น้ำเจ้าพระยาโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 และคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยที่ 258/2499ลงวันที่ 27 มีนาคม 2499 ให้แบ่งเขตกันขุดรายละ 100 ไร่ โจทก์ต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อบำรุงท้องที่รายละ 6,000 บาทเขตที่ดินที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ขุดทรายได้นั้น ไม่อยู่ในเขตที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศหวงห้ามไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2514 อยู่ในระหว่างระยะเวลาที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ขุดทราย จำเลยได้นำเรือขุดทราย 40 กว่าลำเข้าไปขุดทรายในเขตที่โจทก์ทั้งสามได้รับอนุญาตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง โจทก์จึงฟ้องคดีนี้

วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองสั่งอนุญาตให้โจทก์ขุดทรายโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 1 ให้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” ไว้”หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งเป็นผู้ปฎิบัติการตามประมวลกฎหมายนี้ และพนักงานอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฎิบัติการตามประมวลกฎหมายนี้” ประมวลกฎหมายที่ดินมิได้มีบทบัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตตามมาตรา 9 ได้ ก็โดยรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีอำนาจอนุญาตตามมาตราที่กล่าวแล้ว ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาคงได้ความจากนายวิชาญ บรรณโสภิต ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองเพียงว่า นายวิชาญ บรรณโสภิตได้อนุญาตให้โจทก์กับพวกขุดทรายในลำน้ำเจ้าพระยาตามฟ้องโดยมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 258/2499 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2499 การอนุญาตให้โจทก์ขุดทรายนี้ได้อนุญาตให้แบ่งเขตกันขุดคนละ 100 ไร่ ตามคำแนะนำของกรมที่ดิน คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้วมีข้อความกล่าวถึงการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นผู้มีอำนาจอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 ด้วยหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบจึงรับฟังว่ากระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 ไม่ได้ และรับฟังไม่ได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์ยึดถือครอบครองเขตขุดทรายในลำน้ำเจ้าพระยาตามฟ้องได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ โดยอาศัยใบอนุญาตที่โจทก์อ้างท้ายฟ้อง และเมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิในเขตที่ลำน้ำเจ้าพระยาดังฟ้อง การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นละเมิด คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเสียหายต่อไป ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกาของโจทก์ทั้งสามสำนวนฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share