คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7945/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็น ซึ่งจำเลยทั้งสี่เพิ่งยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้จึงมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดเจนและไม่ต้องห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งโจทก์เป็นสถาบันการเงินได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีที่พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ และตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดแล้ว ก็ต้องผูกพันตามนั้น
แม้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่ากำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดใดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเป็นต้นเงินได้ และสัญญาไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญา หรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันระบุว่าจำเลยที่ 1 ใช้เช็คถอนเงินสดครั้งสุดท้ายวันที่ 6 มีนาคม 2535 จำนวน850,000 บาท แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกเลย คงมีแต่หักทอนบัญชีคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระในแต่ละเดือน โดยมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 31มีนาคม 2535 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้สูงกว่าวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีมาก ทั้งตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันก็ระบุว่า ห้ามผ่านเช็ค ซึ่งแสดงว่าโจทก์ระงับการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่าย แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะเลิกการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นเดือน สัญญาจึงเลิกกันในวันที่ 31 มีนาคม 2535

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์เป็นเงิน 3,412,044.28 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18.50 ต่อปี จากต้นเงิน 3,242,754.70 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแก่โจทก์ 536,738.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14.50ต่อปี จากต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนอง คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2169 ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3168 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ไม่ได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารโจทก์ และมีการยกเลิกอำนาจไปแล้ว ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อของนายเกริกเกียรติผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย (น่าจะเป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2) ได้ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยไม่ทราบข้อความโจทก์ไม่เคยแจ้งรายการบัญชีฝากถอนและการคิดคำนวณดอกเบี้ยให้ฝ่ายจำเลยทราบ ทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2535 โจทก์ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1สั่งจ่ายและไม่ยอมขายสมุดเช็คให้จำเลยที่ 1 อีก มีแต่การหักเงินในบัญชีของจำเลยที่ 1 ตลอดมา แสดงว่าโจทก์ไม่ยอมให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยทบต้นและไม่อาจคิดดอกเบี้ยได้เกินร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2535 ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงินจำเลยชำระตลอดมาไม่เคยผิดนัด แต่โจทก์ฟ้องโดยไม่ส่งบัญชีรายการชำระเงิน ทำให้จำเลยหลงต่อข้อต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมและยังมีการคิดดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีตลอดมา ทั้ง ๆ ที่ธนาคารประกาศลดดอกเบี้ยแล้วเมื่อจำเลยผิดนัดชำระเงิน โจทก์ไม่รีบฟ้องและยังคงคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราดังกล่าวอยู่อีกโดยไม่ยอมคิดดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ไม่เคยเปิดบัญชีกระแสรายวันหรือทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ไม่เคยลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้พนักงานของโจทก์บอกให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในการจำนองและให้ความยินยอมในการที่สามีกู้เงินจากธนาคาร จำเลยที่ 2 จึงลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความไว้โดยไม่รู้เห็นมาก่อน โจทก์ไม่เคยแจ้งบัญชีรายการรับถอนให้ทราบ จำเลยที่ 4 เป็นภริยาจำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ พนักงานของโจทก์ให้จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์เพื่อให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองเท่านั้นขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์3,948,782.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน3,242,754.70 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 14.5 ต่อปี จากต้นเงิน400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2169ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และเลขที่ 3168ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาท่าศาลา เพื่อเดินสะพัดทางบัญชีในการกู้เบิกเงินเกินบัญชีและวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ สาขาท่าศาลา ในวงเงิน 150,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19ต่อปี โดยใช้บัญชีที่เปิดไว้นั้นเป็นบัญชีเดินสะพัด กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกวันสิ้นสุดของเดือน หากผิดนัดชำระดอกเบี้ยให้นำดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินและให้โจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากผู้กู้ยืม จำเลยที่ 1และที่ 2 ตกลงชำระหนี้เมื่อโจทก์ทวงถามตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.8 ในวันเดียวกันจำเลยทั้งสองร่วมกันกู้เงินโจทก์สาขาเดียวกันจำนวน 400,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้เช่นเดียวกับข้อตกลงตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ถ้าค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ยอมให้นำดอกเบี้ยนั้นไปทบเป็นต้นเงิน จำเลยทั้งสองตกลงผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ทุกเดือนเดือนละ 10,500 บาท เริ่มแต่เดือนมีนาคม 2534 เป็นต้นไปผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์เรียกชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันทีตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.9 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.12 และ จ.16เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2169 ตำบลสระแก้วอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้างในวงเงินจำนอง200,000 บาท และจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3168 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้างในวงเงินจำนอง 350,000 บาทกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี มีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับผิดใช้หนี้ส่วนที่ยังขาดแก่โจทก์จนครบ ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.11 จ.14 และ จ.15 สำหรับหนี้ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.9 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2537) จำนวน 536,738.01 บาทและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ในต้นเงิน 400,000บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อแรกว่า สมควรหยิบยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามเอกสารหมาย จ.2 (ที่ถูกเอกสารหมาย จ.3) ไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับ จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ว่าเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จำเลยทั้งสี่อาจหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ได้แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้นั้น จำเลยทั้งสี่เห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลจะต้องหยิบยกมาวินิจฉัย เห็นว่า ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็น ซึ่งจำเลยทั้งสี่เพิ่งจะยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องอุทธรณ์ข้อนี้จึงมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ประการที่สองว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดเมื่อใด โดยจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.8 กำหนดให้คิดดอกเบี้ยแบบทบต้นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยโจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดและสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด กรณีนี้สัญญาดังกล่าวจะระงับต่อเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาหรือหักทอนบัญชีหนี้ครั้งสุดท้ายและบอกกล่าวให้ชำระหนี้คงเหลือทั้งหมด เรื่องนี้มีข้อตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 จะต้องซื้อเช็คจากโจทก์เพื่อมาใช้ในการเดินบัญชีโดยให้ถือเอาบัญชีกระแสรายวัน ซึ่งจำเลยที่ 1 จะเบิกไปตามจำนวนและเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องการ และตามที่โจทก์จะพึงอนุญาต และประเพณีการเบิกเงินจากโจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 เบิกเงินในวงเงินตามข้อตกลงก็เสียดอกเบี้ยกรณีหนึ่ง ถ้าเบิกเกินวงเงินก็เสียดอกเบี้ยเพิ่มแล้วแต่จะกำหนด และจำเลยที่ 1 เบิกเงินครั้งสุดท้ายในวันที่ 6 มีนาคม2535 จึงถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว เพราะการกระทำของโจทก์ได้แสดงเจตนาชัดแจ้งในการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ยอมขายเช็คที่จะต้องใช้ในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายไป แต่โจทก์ยังคิดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 19 ต่อปี และนำมาทบต้นอยู่ตลอดอันเป็นการไม่ชอบโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแบบไม่ทบต้นเท่านั้นเห็นว่า แม้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจะระบุว่ากำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดใดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเป็นต้นเงินได้และสัญญาดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญา หรือมีการหักทอนบัญชี และเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.25 ระบุว่าจำเลยที่ 1 ใช้เช็คถอนเงินสดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2535 จำนวน 850,000 บาท แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์อีกเลย คงมีแต่การหักทอนบัญชีคิดดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ค้างชำระในแต่ละเดือนเท่านั้น โดยมีการหักทอนบัญชีกันในวันที่ 31 มีนาคม 2535 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,415,165.69 บาท ซึ่งสูงกว่าวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีมาก ทั้งตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันก็ระบุว่าห้ามผ่านเช็คซึ่งแสดงว่าโจทก์ระงับการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่าย ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์อย่างแจ้งชัดว่า ประสงค์จะเลิกการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่เคยนำเงินเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันดังกล่าว แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ประสงค์จะให้มีการสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป ซึ่งตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กำหนดหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นเดือน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นอันเลิกกันในวันที่ 31 มีนาคม 2535 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2535 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อไป คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นเท่านั้น หาได้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2536 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ ส่วนปัญหาว่าหลังเลิกสัญญาโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บัญญัติว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีและมาตรา 224วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น ดังนั้นกรณีสัญญาระหว่างโจทก์กับฝ่ายจำเลยได้ทำสัญญาตกลงอัตราดอกเบี้ยกันไว้ชัดเจนและไม่ต้องห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งโจทก์เป็นสถาบันการเงินได้ปฏิบัติหลักเกณฑ์และวิธีที่พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 และตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดแล้ว เมื่อตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.25ระบุว่าวันที่ 31 มีนาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 16.75 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี แบบไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จเพราะเป็นกรณีที่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้น ฎีกาจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดเพียงใด โดยฎีกาว่าคงต้องรับผิดเท่าที่ตนทำสัญญาจำนองเท่านั้น เพราะมีการกำหนดวงเงินจำนองไว้ และจำเลยที่ 2ที่ 3 ไม่ได้ค้ำประกันบุคคลเพียงใช้ทรัพย์สินจำนองเท่านั้นถือเป็นหนี้ร่วมไม่ได้ เห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินเอกสารหมายจ.7 ถึง จ.9 ระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาดังกล่าวไว้กับโจทก์ ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ค้างชำระ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำไว้กับโจทก์โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้กู้ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.12 และ จ.16 ข้อ 1 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเช่นเดียวกัน แม้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้จำนองทรัพย์สินเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยก็เป็นคนละเรื่องกันไม่อาจปัดความรับผิดได้เพราะมีข้อตกลงในสัญญาชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังที่วินิจฉัยข้างต้น ฎีกาจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,415,165.69 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2535 เป็นต้นไป และร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เงินจำนวน 536,738.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ในต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share