แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อุทธรณ์จำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน นอกจากนี้จำเลยยังได้อ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ในอุทธรณ์อีก จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
สัญญาจ้างแรงงานนอกจากจะบังคับใช้ตามบรรพ 3 ลักษณะ 6 แห่ง ป.พ.พ. แล้ว ยังจะต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะให้สอดคล้องกันด้วย ในเรื่องการทำงานล่วงเวลาได้มีการบัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ฉะนั้น นายจ้างจะมีคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่ เพียงใด ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายฉบับนี้ คู่กรณีจะทำสัญญาให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ ในบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหาได้ไม่
นายจ้างไม่มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานนอกจากจะเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเว้นแต่ ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป หมายความว่า เมื่อนายจ้างประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงระยะเวลาใด นายจ้างจะต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วง ระยะการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาไว้ก่อนล่วงหน้า หลังจากนั้นหากนายจ้างจะออกคำสั่ง ในเรื่องการทำงานล่วงเวลาอีกก็ต้องให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าว ถ้าคำสั่งนั้นไม่สอดคล้องกับข้อตกลง ต้องถือว่าเป็นคำสั่งให้ทำงานล่วงเวลาที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ลูกจ้างไม่จำต้องปฏิบัติตามก็ได้
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงเรื่องกำหนดช่วงระยะการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาระหว่างจำเลยกับลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ คำสั่งของจำเลยให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะลงชื่อให้ความยินยอมว่าจะปฏิบัติตามก็ไม่ผูกพันโจทก์ให้ต้อง ทำงานล่วงเวลา การที่โจทก์ไม่ได้ทำงานล่วงเวลาทุกวันตามคำสั่งของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ขัดคำสั่ง ของจำเลยเรื่องการทำงานล่วงเวลา
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวหนึ่ง จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ แสดงอยู่ในตัวว่าศาลแรงงานวินิจฉัยคดีโดยปรับใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 ศาลแรงงานพิพากษาชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 16,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และค่าชดเชยเป็นเงิน 26,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 16,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2541 (วันฟ้อง) ค่าชดเชยเป็นเงิน 26,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า จำเลยได้มีหนังสือตักเตือนโจทก์เรื่องไม่ทำงานล่วงเวลาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 แต่วันที่ 3 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 โจทก์กลับหยุดงานโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบทั้งที่สามารถแจ้งได้ โจทก์อาศัยใบรับรองแพทย์มาแสดงโดยอ้างว่าโจทก์เป็นโรคภูมิแพ้หรือไซนัส ลักษณะของโรคมิใช่ต้องป่วยเจ็บขนาดต้องหยุดงานถึง 2 วัน ซึ่งเป็นการลาหยุดงานเท็จอันเป็นการฉ้อโกงเวลาการทำงานมุ่งประสงค์ให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะอยู่ในช่วงเร่งการผลิต จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ให้ความร่วมมือในการทำงานล่วงเวลาตามสมควรแล้ว จำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์ว่าไม่ทำงานล่วงเวลาจึงไม่ชอบ การทำงานล่วงเวลาต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง จำเลยออกประกาศให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาโดยไม่กำหนดระยะเวลาให้แน่นอน เมื่อโจทก์ทำงานล่วงเวลาเป็นบางวันจึงเป็นสิทธิของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ขัดคำสั่งจำเลย อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง นอกจากนี้จำเลยยังได้อ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ในอุทธรณ์อีกว่าโจทก์ลาหยุดงานเท็จ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า โจทก์ยอมทำงานล่วงเวลาตามประกาศของจำเลย โดยลงชื่อในเอกสารและรับเงินจากการทำงานล่วงเวลา โจทก์จำเลยต่างเป็นคู่สัญญาต้องปฏิบัติตามพันธะที่มีต่อกัน ฝ่ายใดผิดข้อตกลงอีกฝ่ายมีสิทธิบังคับได้ การกระทำของโจทก์ที่ไม่ยอมทำงานล่วงเวลาถือว่าขัดคำสั่งจำเลย และที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โดยนำกฎหมายแรงงานมาปรับแก่คดี ไม่ปรับบังคับใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการใช้กฎหมายไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างแรงงานนอกจากจะบังคับใช้ตามบรรพ 3 ลักษณะ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังจะต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะให้สอดคล้องกันด้วย ในเรื่องการทำงานล่วงเวลาได้มีการบัญญัติไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ฉะนั้นนายจ้างจะมีคำสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้หรือไม่ เพียงใด ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายฉบับนี้ คู่กรณีจะทำสัญญาให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหาได้ไม่
โดยกฎหมายฉบับนี้วางหลักเกณฑ์ว่า นายจ้างไม่มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน นอกจากจะเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป หมายความว่า เมื่อนายจ้างประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงระยะเวลาใด นายจ้างจะต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วงระยะการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาไว้ก่อนล่วงหน้า หลังจากนั้นหากนายจ้างจะออกคำสั่งในเรื่องการทำงานล่วงเวลาอีกก็ต้องให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าว ถ้าคำสั่งนั้นไม่สอดคล้องกับข้อตกลงต้องถือว่าเป็นคำสั่งให้ทำงานล่วงเวลาที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ลูกจ้างไม่จำต้องปฏิบัติตามก็ได้
เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงเรื่องกำหนดช่วงระยะเวลาเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาระหว่างจำเลยกับลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ คำสั่งของจำเลยให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้โจทก์จะลงชื่อให้ความยินยอมว่าจะปฏิบัติตามก็ไม่ผูกพันโจทก์ให้ต้องทำงานล่วงเวลา การที่โจทก์ไม่ได้ทำงานล่วงเวลาทุกวันตามคำสั่งของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยเรื่องการทำงานล่วงเวลา และที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวหนึ่ง จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ ก็แสดงอยู่ในตัวว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีโดยปรับใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 ตามข้ออุทธรณ์ของจำเลย ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.