คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4115/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท ย. มีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนกระทำการทุกอย่างแทนในการจัดหาคนหางานไปทำงานในประเทศไนจีเรีย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จัดทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง เป็นกรณีจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างงานแทนบริษัท ย. ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างงานนั้นเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์แทนบริษัท ย. ไม่ใช่กรณีจำเลยทั้งสองเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครอบแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 820, 821 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้หนี้โจทก์เป็นเงิน 76,617.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากยอดเงิน 70,002 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ใช้เงินค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ 75,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 76,617.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 70,002 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 18 พฤษภาคม 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่ามีปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าหนังสือมอบอำนาจ ที่ระบุว่าบริษัทยูจินเอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไนจีเรีย) จำกัด มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนกระทำการทุกอย่างแทนในการจัดหาคนหางานไปทำงานในประเทศไนจีเรีย ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้จัดทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของจำเลยที่ 1 ในนามนายจ้างนั้นเป็นกรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ที่จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างงานแทนบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างงานนั้นแต่ลำพังตนเอง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองเป็นเพียงนายหน้า ผู้ชี้ช่องในการจัดหางานและจัดส่งโจทก์ไปทำงาน ศาลแรงงานกลางแปลความหมายในสัญญาจ้างงานผิดพลาด ไม่ตรงตามเจตนาของคู่สัญญาเป็นการนอกฟ้องขัดต่อพยานหลักฐานเอกสารที่ปรากฏ เป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายผิดพลาดไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามกฎหมายเท่านั้น ตามสัญญาจ้างงานก็มิได้ระบุให้คิดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เห็นว่า การที่ฝ่ายจำเลยลดค่าจ้างโดยโจทก์ไม่ยินยอมฝ่ายจำเลยผิดสัญญา จึงต้องชดใช้ค่าจ้างส่วนที่ลดลงให้โจทก์ เมื่อนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่ลดลงนั้นก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางยกฟ้องแย้งโดยวินิจฉัยข้อกฎหมายผิดพลาดหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฝ่ายจำเลยผิดสัญญาจ้างงานและได้คืนเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดหางานที่เรียกเก็บไป 86,000 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อฝ่ายจำเลยผิดสัญญาจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ เป็นการวินิจฉัยโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อนึ่ง เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดแทนบริษัทยูจินเอ็นจิเนียรริ่ง (ประเทศไนจีเรีย) จำกัด ผู้เป็นกิจการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ตามข้างต้น ไม่ใช่กรณีจำเลยทั้งสองเป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 820, 821 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share