คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกามีตรายางประทับข้อความว่า ให้มาทราบคำสั่งทุก 7 วัน ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว โดยทนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ตอนท้ายข้อความดังกล่าว ทั้งการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเป็นคำสั่งของผู้พิพากษา ซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องถือว่าทนายจำเลยทราบคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้ว โดยศาลชั้นต้นไม่ต้องแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยทราบอีก และข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย หาใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่อาจยื่นเรื่องขอให้อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่ขยายให้ฎีกาแต่อย่างใดไม่ การที่ทนายจำเลยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลาฎีกา ย่อมเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 เดือน ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังวันที่ 7 มิถุนายน 2554 ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ครั้นวันที่ 4 สิงหาคม 2554 จำเลยยื่นฎีกาพร้อมยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554
วันที่ 21 กันยายน 2554 จำเลยยื่นคำร้องว่า ตามคำร้องขอรับรองฎีกาจำเลยยังคงขอใช้สิทธิให้อัยการสูงสุดพิจารณารับรองฎีกา เมื่อปรากฏว่าไม่มีผู้พิพากษาคนใดอนุญาตให้จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นชอบที่จะแจ้งคำสั่งให้จำเลยหรือทนายจำเลยทราบก่อนมีคำสั่งรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลย เพื่อจำเลยจะได้ใช้สิทธิตามกฎหมายส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะรับรองให้ฎีกาหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งการไม่อนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาให้จำเลยทราบ และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย จึงเป็นการพิจารณาและมีคำสั่งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่รับฎีกา และขอเวลาอีก 3 เดือนเพื่อคัดสำนวนคดีเสนออัยการสูงสุดรับรองฎีกาต่อไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า การขอให้อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 เป็นหน้าที่ของผู้ขอที่ต้องไปดำเนินการเอง ศาลไม่มีหน้าที่ส่งให้ นอกจากนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้พิพากษาพิจารณาสั่งการขออนุญาตฎีกาเสร็จก่อนจึงจะมีสิทธิไปยื่นขอต่ออัยการสูงสุด คู่ความที่ประสงค์จะฎีกามีหน้าที่ต้องไปดำเนินการเอง ภายในเวลาที่มีสิทธิยื่นฎีกาได้ คดีนี้จำเลยหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ส่วนทนายจำเลยลงชื่อมารับทราบคำสั่งทุก 7 วัน ในคำร้องขออนุญาตฎีกาและในฎีกาแล้ว จึงถือว่าทราบคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ฎีกาและคำสั่งไม่รับฎีกาโดยชอบแล้ว ไม่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบ และไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาตามที่ขอมา ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่แจ้งคำสั่งของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงให้จำเลยทราบ และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกามีตรายางประทับข้อความว่า ให้มาทราบคำสั่งทุก 7 วัน ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว โดยทนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ตอนท้ายข้อความดังกล่าว ทั้งการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเป็นคำสั่งของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องถือว่าทนายจำเลยทราบคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้วโดยศาลชั้นต้นไม่ต้องแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยทราบอีก และข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยหาใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่อาจยื่นเรื่องขอให้อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่ขยายให้ฎีกาแต่อย่างใดไม่ การที่ทนายจำเลยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลาฎีกาย่อมเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลย และกรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษานี้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share