คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3135/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์วางระเบียบให้ประชาชนผู้ใช้เครื่องโทรศัพท์ของโจทก์สามารถใช้บริการพูดวิทยุโทรศัพท์ระหว่างประเทศโดยเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการตามอัตราที่กำหนดทุกครั้ง เป็นการให้บริการประจำเป็นปกติธุระ ค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในการพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศจึงเป็นสินจ้างที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยผู้ใช้บริการแม้โจทก์จะเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสื่อสารพ.ศ. 2519 ก็ตาม ก็ถือว่าโจทก์เป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) จึงมีอายุความสองปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ได้วางระเบียบให้ประชาชนสามารถใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยใช้เครื่องโทรศัพท์ของผู้เช่าโทรศัพท์จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ติดตั้ง ณ บ้านของผู้เช่าโทรศัพท์ผ่านเครื่องวิทยุโทรศัพท์ของโจทก์ จำเลยเป็นผู้เช่าโทรศัพท์หมายเลข 511-1387 ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2525 ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2526 ได้มีการใช้บริการพูดโทรศัพท์จากเครื่องโทรศัพท์ดังกล่าวไปยังปลายทางประเทศผรั่งเศสจำนวน9 ครั้ง ค่าบริการเป็นเงิน 4,816 บาท และประเทศออสเตรเลียจำนวน 1 ครั้ง ค่าบริการเป็นเงิน 400 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 5,216 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องเกินสองปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นว่า ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2525 ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2526 ได้มีการใช้บริการพูดวิทยุโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ที่จำเลยเป็นผู้เช่าโทรศัพท์หมายเลข 511-1387ซึ่งโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระนับถึงวันฟ้องเกินกำหนดสองปีแล้วและโจทก์ได้วางระเบียบไว้ให้ผู้ใช้เครื่องโทรศัพท์พูดทางไกลไปต่างประเทศโดยผ่านเครื่องวิทยุโทรศัพท์ของโจทก์ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมในการใช้ทุกครั้งตามอัตราที่โจทก์กำหนดโดยโจทก์จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบและเรียกเก็บเงินด้วย ที่โจทก์ฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวมีอายุความสิบปี ไม่ใช่สองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 นั้น เห็นว่า โจทก์วางระเบียบให้ประชาชนผู้ใช้เครื่องโทรศัพท์สามารถใช้บริการพูดวิทยุโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการตามอัตราที่กำหนดทุกครั้ง แสดงว่าโจทก์ให้บริการดังกล่าวประจำเป็นปกติธุระ ค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในการพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศตามฟ้อง จึงเป็นสินจ้างที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยผู้ใช้บริการ แม้โจทก์จะเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ก็ตามก็ถือว่าโจทก์เป็นผู้ค้าในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7)ซึ่งมีอายุความสองปี หาใช่มีอายุความสิบปีไม่ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ”
พิพากษายืน

Share