คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4352/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสอง คือค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ละเมิดจำต้องใช้แก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ถึงตาย แต่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเท่านั้น หาใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้หลังจากผู้เสียหายนั้นถึงแก่ความตายแล้วด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทนารายณ์สากลประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,422,230 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 สิงหาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดชอบในจำนวนเงิน 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยร่วมรับผิดตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ทนายโจทก์และนายทรายบิดาโจทก์ ยื่นคำร้องว่า โจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 นายทรายบิดาโจทก์ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 722,230 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดในวงเงิน 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้ขับรถยนต์โดยประมาท ความเสียหายจากการละเมิดเกิดจากการกระทำของโจทก์ โดยขณะที่จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ตรงไปทางทิศตะวันตกผ่านสามแยกซึ่งมีสัญญาณไฟจราจรอยู่กลางถนน โจทก์ซึ่งขับรถจักรยานยนต์จอดรอสัญญาณไฟเลี้ยวขวาอยู่ทางด้านขวาได้ขับรถจักรยานยนต์แซงรถยนต์รับจ้างสี่ล้อเล็กไม่พ้น จึงชนกับรถยนต์รับจ้างสี่ล้อเล็กแล้วล้มครูดไปตามถนนเข้าไปทางล้อหลังด้านขวาของรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับ เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในคดีอาญาที่พนักงานอัยการและโจทก์ซึ่งเข้าร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และคดีถึงที่สุดแล้วซึ่งในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 คดีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยประมาท ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยสารประจำทางด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถหยุดรถหรือชะลอความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะขับหลบหลีกไม่ชนรถคันอื่นที่กีดขวางอยู่ข้างหน้าได้ทัน เมื่อรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถยนต์เลี้ยวรถหลบรถของโจทก์ไปทางซ้าย แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูงและระยะที่เลี้ยวรถหลบหลีกก็กระชั้นชิดกับท้ายรถของโจทก์มากเกินกว่าจะหลบได้ทัน เป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยที่ 2 ขับเบียดเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 2 เพียงปากเดียวมาเบิกความลอย ๆ ว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ผ่านแยกดังกล่าวไปได้ยินเสียงดังโครม จึงจอดรถลงไปดู พบโจทก์ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ติดอยู่ใต้ท้องรถที่จำเลยที่ 2 ขับ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกา และขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยประมาทฝ่ายเดียว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพียงใด จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ได้รับเงินค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้เป็นเงินเดือนละ 1,500 บาท เป็นเวลานานถึง 33 ปี เป็นเงินถึง 594,000 บาท เป็นการไม่เป็นธรรมต่อจำเลยทั้งสองเพราะได้ความว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 แต่พยานโจทก์เบิกความเป็นพยานเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544 โดยปกปิดการตายไม่ให้จำเลยทั้งสองทราบ และทนายโจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องของบิดาโจทก์ขอรับมรดกความเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 ทั้งพยานโจทก์เบิกความเพียงว่า โจทก์มีอาชีพรับจ้างซักเสื้อผ้า มีเครื่องซักผ้า 4 เครื่อง มีกำไรจากการประกอบอาชีพเดือนละ 40,000 บาท ขอเรียกค่าขาดประโยชน์ส่วนนี้เป็นเงิน 800,000 บาท โดยไม่ได้แสดงหลักฐานอื่นประกอบนั้น เห็นว่า โจทก์มีทนายโจทก์เบิกความว่า โจทก์มีอาชีพรับจ้างซักเสื้อผ้า มีเครื่องซักผ้า 4 เครื่อง มีลูกจ้าง 4 คน มีกำไรจากการประกอบอาชีพประมาณเดือนละ 40,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ประกอบกิจการดังกล่าวจริง และกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงินเดือนละ 1,500 บาท จึงชอบและเหมาะสมแล้ว แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์เป็นเวลาถึง 33 ปี นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตา 443 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย” ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ละเมิดจำต้องชดใช้แก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ถึงแก่ความตายแต่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเท่านั้น หาใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้หลังจากผู้เสียหายนั้นถึงแก่ความตายแล้วด้วยไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2542 โจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 โจทก์จึงขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานเป็นเลา 1 ปี 8 เดือน 6 วัน จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เป็นเงิน 30,300 บาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
…อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยจำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ด้วยจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 858,530 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยร่วมรับผิดในวงเงิน 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยร่วมไม่ต้องร่วมรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งหมดให้เป็นพับ.

Share