แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด น้ำหนัก 38.54 กรัม โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด แม้โจทก์นำสืบถึงรายงานการตรวจพิสูจน์ตามเอกสารหมาย จ.1 ในชั้นพิจารณาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่ปรากฏในชั้นพิจารณานั้นก็มิใช่ส่วนหนึ่งของคำฟ้อง จะนำมาประกอบคำฟ้องเป็นองค์ประกอบความผิดที่จะทำให้จำเลยที่ 1 รับโทษหนักขึ้นหาไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, 102 จำคุก 11 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี 6 เดือน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยที่ 1 และโจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง พันตำรวจตรีศุภสรกับพวกจับกุมจำเลยทั้งสองขณะที่จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะโดยมีจำเลยที่ 1 นั่งคู่มาด้านหน้า เจ้าพนักงานตำรวจพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 400 เม็ด ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และพบเงินจำนวน 19,000 บาท ในตัวของจำเลยที่ 2 ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมขณะขับรถยนต์กระบะของตนโดยมีจำเลยที่ 1 นั่งมาด้วย เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจค้นตัวก็ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายแต่อย่างใด เงินสดจำนวน 19,000 บาท ที่พบในตัวจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เงินที่ได้จากการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 2 ขับไปก็เป็นรถยนต์ที่ใช้ในงานรับจ้างทั่วไป ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ว่าตนมีอาชีพขับรถรับจ้างทั่วไป ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ขับรถมาที่แม่กลอง แม้ว่าจำเลยทั้งสองจะนั่งรถมาด้วยกัน แต่จำเลยที่ 1 ก็ซุกซ่อนห่อบรรจุเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 ห่อ ไว้ในเสื้อชั้นในทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถมองเห็นสิ่งของผิดกฎหมายที่จำเลยที่ 1 นำติดตัวมาได้ ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม จำเลยที่ 2 ก็นำสืบต่อสู้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจให้ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้อ่านข้อความให้ฟังก่อน พยานหลักฐานของโจทก์ตามที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ สมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า เมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด น้ำหนัก 38.54 กรัม โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด แม้โจทก์นำสืบถึงรายงานการตรวจพิสูจน์ในชั้นพิจารณาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่ปรากฏในชั้นพิจารณานั้นก็มิใช่ส่วนหนึ่งของคำฟ้อง จะนำมาประกอบคำฟ้องเป็นองค์ประกอบความผิดที่จะทำให้จำเลยที่ 1 รับโทษหนักขึ้นหาได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7