คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4114/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การเวนคืนที่ดินของโจทก์เป็นไปตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายแยกถนนจรัญสนิทวงศ์… พ.ศ. 2524 ซึ่งกฎหมายแม่บทว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ก็ตาม แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28พฤศจิกายน 2515(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกใช้บังคับ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มาตรา 7ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 3 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง ข้อ 63ถึง ข้อ 80 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว และมาตรา 9 วรรคสอง กับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสองบัญญัติรับกันว่าการเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงและตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัติทั้งสองนี้ เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ส่วนประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 9วรรคสี่ และวรรคห้า… แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย ขณะที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28พฤศจิกายน 2515(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ฯ ยังไม่เสร็จสิ้นเพราะจำเลยที่ 1 เพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534แจ้งการนำเงินค่าทดแทนไปฝากไว้แก่ธนาคารออมสินถึงโจทก์ ดังนั้นการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์จึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ที่ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืน ในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง(1) ถึง (5) นั้นย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สำหรับคดีนี้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ฯ ซึ่งเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน2524 แล้ว แต่กลับปรากฏว่ากรมทางหลวงจำเลยที่ 1 เพิ่งจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยวิธีนำเงินฝากธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2534 การที่จำเลยที่ 1 และอธิบดีกรมทางหลวงจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการชดใช้ค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์และปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานถึง 10 ปี เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 33 วรรคสาม ซึ่งใช้บังคับในขณะที่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ฯ และทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้นการที่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยคำนึงถึงมาตรา 21 เฉพาะอนุมาตรา (1) ถึง (4) คือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ทั้งสองในพ.ศ. 2524 อันเป็นปีที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ฯ อย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ดังนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 และเป็นราคาที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย นับว่าเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองผู้ถูกเวนคืนและสังคมซึ่งชอบด้วยความมุ่งหมายหลักของมาตรา 21แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 32269ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 19 ตารางวา และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกันกับโจทก์ที่ 2 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17872 ตำบลบางระมาดอำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 98 ตารางวา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นอธิบดีจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เมื่อ พ.ศ. 2513 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 338 สายบางกอกน้อย – นครชัยศรี ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในท้องที่เขตบางกอกน้อย และเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และต่อมาในพ.ศ. 2524 ได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงดังกล่าว ที่ดินของโจทก์ทั้ง 2 แปลง อยู่ในบริเวณที่ถูกเวนคืนด้วย โดยเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2535 โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือแจ้งจากจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1ได้นำฝากเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไว้แก่ธนาคารออมสิน สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 32269 เนื้อที่ 419 ตารางวา เป็นเงิน 104,750 บาท และสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 17872 เนื้อที่ 249 ตารางวา เป็นเงิน 62,250 บาท โจทก์เห็นว่าราคาที่จำเลยกำหนดให้เพียงตารางวาละ 250 บาท ไม่เป็นธรรม ที่ดินของโจทก์ทั้งสองตั้งอยู่ในทำเลดีมีราคาซื้อขายท้องตลาดตารางวาละระหว่าง 30,000 บาท ถึง 40,000 บาท โจทก์จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งโจทก์ขอคิดเพียงตารางวาละ30,000 บาท ที่ดินโจทก์แปลงแรกถูกเวนคืนเต็มแปลง เนื้อที่ 419 ตารางวา จึงมีราคา12,570,000 บาท ส่วนโฉนดที่ดินแปลงที่ 2 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 249 ตารางวา จึงมีราคา7,470,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,040,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 32269 ให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 12,570,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 1จะได้รับชำระเสร็จสิ้น และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 17872 แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 7,470,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะได้ชำระเสร็จสิ้น

จำเลยทั้งสองให้การว่า การเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และการจ่ายเงินค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดยคณะกรรมการเวนคืนตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีได้วางหลักการจ่ายค่าทดแทนที่ดิน โดยยึดบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด และยังอาศัยหลักเกณฑ์ ซึ่งประกอบด้วยราคาปานกลางของที่ดินเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2521 ราคาที่ดินตามบัญชีฯ ของกรมที่ดินดังกล่าวใช้ในช่วง พ.ศ. 2522 ถึงพ.ศ. 2524 ราคาซื้อขายที่ดินบริเวณใกล้เคียงและสภาพทำเลของที่ดินในปีที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ (แยกสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า) – บางกอกน้อย ทางหลวงพิเศษสายบางกอกน้อย – นครชัยศรีและทางหลวงแผ่นดิน สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 – นครชัยศรี ในท้องที่เขตบางกอกน้อย เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และอำเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2524 ใช้บังคับ โจทก์ทั้งสองได้รับค่าทดแทนเป็นเงิน 62,250บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 167,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกต้องเหมาะสม ชอบด้วยกฎหมายเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสองจำนวน 20,040,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแต่อย่างใด เพราะโจทก์ทั้งสองไม่ได้ทวงถามหนี้จำนวนนี้จากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้ผิดนัด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,294,750 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,552,250 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำขอนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพียงใด ปัญหานี้โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้นต้องนำราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดใน พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์ฟ้องคดีมาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกเวนคืน ซึ่งราคาที่เป็นธรรมคือตารางวาละ 30,000 บาท ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาว่า การเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกใช้บังคับใน พ.ศ. 2524 ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ยังไม่ได้ประกาศใช้กฎหมายเวนคืนที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 การที่คณะกรรมการเวนคืนได้กำหนดราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดใน พ.ศ. 2524 โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2524 สำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีราคาตารางวาละ 250 บาทจึงชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76 และเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองพิเคราะห์แล้ว แม้การเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นไปตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ (แยกสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า) บางกอกน้อย ทางหลวงพิเศษสายบางกอกน้อย – นครชัยศรี และทางหลวงแผ่นดินสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 – นครชัยศรี ในท้องที่เขตบางกอกน้อย เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และอำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2524 ซึ่งกฎหมายแม่บทว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ก็ตาม แต่ต่อมามีพระราชทานแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกใช้บังคับ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 3 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงข้อ 63 ถึงข้อ 80 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว และมาตรา 9 วรรคสอง กับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสอง บัญญัติรับกันว่าการเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงและตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัติทั้งสองนี้เป็นอันใช้ได้แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ส่วนประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ข้อ 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่ และวรรคห้า… แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย ขณะที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับ การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ฯ ยังไม่เสร็จสิ้นเพราะจำเลยที่ 1 เพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534 แจ้งการนำเงินค่าทดแทนไปฝากไว้แก่ธนาคารออมสินถึงโจทก์ทั้งสอง ดังนั้น การกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งมาตรา 21 บัญญัติว่าเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง

(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6

(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่

(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ

(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาและนำสืบถึงราคาที่ดินในโครงการบ้านจัดสรรในพ.ศ. 2536 ตารางวาละ 30,000 บาท นั้น มิใช่ราคาที่ดินที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 21 ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าคณะกรรมการเวนคืนได้กำหนดราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดใน พ.ศ. 2524 ตารางวาละ 250 บาท เป็นธรรมแก่โจทก์แล้วนั้น เห็นว่า มาตรา 21 ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืน ในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) นั้นย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สำหรับคดีนี้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ฯ ซึ่งเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 4กันยายน 2524 แล้ว แต่กลับปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยวิธีนำเงินฝากธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2534 การที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการชดใช้ค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ทั้งสองและปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานถึง 10 ปี เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2521 มาตรา 33 วรรคสาม ซึ่งใช้บังคับในขณะที่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สายแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ฯ และทำให้โจทก์ทั้งสองขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้นการที่กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยคำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (4) คือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ทั้งสองใน พ.ศ. 2524 อันเป็นปีที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายแยกถนนจรัญสนิทวงศ์ฯ อย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองตารางวาละ 10,500 บาท ตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 และเป็นราคาที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วยนับว่าเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองผู้ถูกเวนคืนและสังคม จึงชอบด้วยความมุ่งหมายหลักของมาตรา 21 แล้ว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราคงที่นั้น ไม่ชอบด้วยมาตรา 26 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นแต่ไม่เกินร้อยละ7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share