คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยหลอกลวงชวนโจทก์ร่วมทั้งสามไปทำงานต่างประเทศเนื่องจาก การหลอกลวงของจำเลย โจทก์ร่วมทั้งสามได้จ่ายเงินให้จำเลยการหลอกลวงของจำเลยมิได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไปว่าจำเลยสามารถจัดหางานในต่างประเทศให้บุคคลทั่ว ๆ ไป ที่ต้องการทำ จำเลยเพียงแต่พูดชวนโจทก์ร่วมทั้งสามให้ไปทำงาน ในต่างประเทศเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ เมื่อคดีขาดอายุความสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมทั้งสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ขอถือเอาตามคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ก็ย่อมตกไปด้วย ศาลไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และให้จำเลยใช้เงินจำนวน 140,000 บาทแก่ผู้เสียหายตามส่วน จำเลยให้การปฏิเสธ ผู้เสียหายทั้งสามขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาตและพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3จำนวน 50,000 บาท 90,000 บาท และ 50,000 บาท ตามลำดับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในขั้นนี้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือไม่ และจำเลยต้องคืนเงินให้โจทก์ร่วมหรือไม่ โจทก์ร่วมทั้งสามเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้ชวนโจทก์ร่วมทั้งสามไปทำงานต่างประเทศ โดยจำเลยเป็นนายหน้าติดต่อกับบริษัทจัดหางานชื่อบริษัทพูลอาราเบีย จำกัดที่กรุงเทพมหานคร โจทก์ร่วมทั้งสามได้มอบเงินให้จำเลยรวม 190,000บาท จำเลยพาโจทก์ร่วมไปพบผู้จัดการบริษัทดังกล่าว ต่อมาจำเลยพาโจทก์ร่วมไปตรวจร่างกายและทำทะเบียนประวัติ โดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งสิ้น แต่ในที่สุดโจทก์ร่วมไม่สามารถไปทำงานต่างประเทศได้จึงได้ขอเงินคืนจากจำเลย จำเลยกลับปฏิเสธไม่รับรู้ ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยก็ยอมรับว่าได้พาโจทก์ร่วมทั้งสามไปพบผู้จัดการบริษัทพูลอาราเบีย จำกัด จริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินของโจทก์ทั้งสาม เห็นว่า โจทก์ร่วมทั้งสามกับจำเลยเป็นคนบ้านเดียวกันไม่เคยมีสาเหตุกันมาก่อน ถ้าจำเลยมิได้รับเงินของโจทก์ร่วมทั้งสามไปจริงก็ไม่มีเหตุที่โจทก์ร่วมจะสร้างเหตุการณ์ขึ้น เพื่อบังคับให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมทั้งสามรูปคดีฟังได้ว่าเนื่องจากการหลอกลวงของจำเลย โจทก์ร่วมทั้งสามได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยจริง แต่พฤติการณ์การหลอกลวงของจำเลยมิได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่ว ๆ ไปว่าจำเลยสามารถจัดหางานในต่างประเทศให้บุคคลทั่ว ๆ ไปที่ต้องการทำคดีนี้ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยพูดชวนโจทก์ร่วมทั้งสามให้ไปทำงานในต่างประเทศเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้และคดีของโจทก์ขาดอายุความตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้วเมื่อคดีขาดอายุความสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ขอถือเอาตามคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ก็ย่อมตกไปด้วยที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสามนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ที่ขอให้จำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share