คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจยอมรับการปรับเงินเดือนตามโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดีโดยวิธีเอาค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์เดือนละ27,860บาทคูณด้วยจำนวนปีอายุการทำงานเป็นเงินบำนาญที่โจทก์จะได้เท่ากับโจทก์ยอมรับปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีตามคำให้การของจำเลยแล้วโจทก์จะเลือกยอมรับมติคณะรัฐมนตรีเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการปรับเงินเดือนของโจทก์โดยไม่ยอมรับส่วนที่เกี่ยวกับวิธีคำนวณเงินบำเหน็จของโจทก์หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เกษียณอายุเมื่อวันที่1 ตุลาคม 2537 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์เดือนละ 27,860 บาทอายุการทำงานของโจทก์นับถึงวันเกษียณคำนวนได้ 10 ปี เมื่อคำนวณเงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยซึ่งให้เอาค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีอายุการทำงานแล้ว โจทก์จะได้เงินบำเหน็จทั้งสิ้น278,600 บาท แต่จำเลยคำนวณให้โจทก์เพียง 187,740 บาท ขาดไป90,860 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับการพิจารณาให้เข้าโครงการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ซึ่งจะมีการปรับอัตราเงินเดือนตลอดจนสวัสดิการต่าง ๆ ให้สูงขึ้นมติคณะรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวกับรายจ่ายเงินบำเหน็จจึงให้คำนวณเงินบำเหน็จโดยให้ใช้อัตราเงินเดือนก่อนปรับอัตราเงินเดือนตามโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดีคูณระยะเวลาที่ทำงานอยู่เดิม จำเลยจำต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่สั่งการให้ถือปฏิบัติดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นว่า มติของคณะรัฐมนตรีตามคำให้การของจำเลยนำมาใช้กับกรณีของโจทก์ได้หรือไม่ หากกรณีของโจทก์ไม่อาจนำมติของคณะรัฐมนตรีมาใช้ได้ จำเลยยอมแพ้คดีแต่หากการคำนวณเงินบำเหน็จของโจทก์จะต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีตามคำให้การของจำเลยแล้ว โจทก์ยอมแพ้คดี โดยยอมรับเงินบำเหน็จตามที่จำเลยคำนวณในคำให้การของจำเลย
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า กรมบัญชีกลางมีหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีตามคำให้การของจำเลยมายังผู้ว่าการจำเลยตามสำเนาหนังสือด่วนมาก ที่ กค 0511/730 ลงวันที่ 12 กันยายน 2537มีข้อความว่า “ด้วยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม2537 อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี และกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่ได้รับอนุมัติให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดีไปแล้วดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. ให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราคงที่กำหนด เว้นแต่รัฐวิสาหกิจที่ดีแห่งใดได้กำหนดให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราที่สูงกว่า ก็คงให้เป็นไปตามเดิม และห้ามมิให้ปรับปรุงอัตราการจ่ายเงินสมทบให้สูงขึ้นอีก
2. สำหรับพนักงานที่ยังไม่สมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจนเกษียณอายุ ให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณเงินบำเหน็จเมื่อเกษียณอายุ
3. ให้ใช้หลักเกณฑ์การขึ้นหรือเลื่อนขั้นเงินเดือนค่าจ้างประจำปี เพื่อพิจารณาความดีความชอบของพนักงานตามแนวทางปฏิบัติที่กระทรวงการคลังเสนอ” มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมีที่มาจากการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปรากฏตามสำเนาหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนมาก ที่ กค 0511/34628 ลงวันที่19 สิงหาคม 2537 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนำเสนอเงื่อนไขการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดีต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ มีรายละเอียดในข้อ 6.3 ว่า”สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการอนุมัติให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดีไปแล้ว ได้แก่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
6.3.1 ให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 4.3.1 เว้นแต่รัฐวิสาหกิจที่ดีแห่งใดได้กำหนดให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราที่สูงกว่าอัตราตามข้อ 4.3.1 ก็ให้คงเป็นไปตามเดิม และห้ามมิให้ปรับปรุงอัตราการจ่ายเงินสมทบให้สูงขึ้นอีก
6.3.2 สำหรับพนักงานที่ยังไม่สมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจนเกษียณอายุให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณเงินบำเหน็จเมื่อเกษียณอายุตามข้อ 4.3.1
6.3.3…”
สำหรับข้อ 4.3.1 นั้น มีข้อความว่า “ให้เปลี่ยนระบบกองทุนบำเหน็จเป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทันที เมื่อ กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ทั้งนี้เพราะเมื่อ กฟผ.เข้าโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดีแล้ว จะมีการปรับอัตราเงินเดือนตลอดจนสวัสดิการต่าง ๆให้สูงขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเงินกองทุนบำเหน็จเป็นอย่างมาก โดยการเปลี่ยนแปลงจากระบบกองทุนบำเหน็จเป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ กฟผ.คำนวณเงินบำเหน็จให้พนักงานตามสิทธิที่จะได้รับ ณ วันที่เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อโอนเข้ากองทุนเลี้ยงชีพดังนี้
(1) ใช้อัตราเงินเดือนปัจจุบัน (ก่อนปรับอัตราเงินเดือนตามโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดี) คูณระยะเวลาที่ทำงานอยู่เดิม บวกอัตราเงินเดือนที่ปรับตามโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดีคูณระยะเวลาทำงานนับจากวันที่ กฟผ.ปรับอัตราเงินเดือนตามโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดีถึงวันที่เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (สำหรับพนักงานที่อายุงานยังไม่ครบกำหนดที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบของกฟผ.ให้คำนวณเงินบำเหน็จให้ตามส่วน)
(2) ให้ใช้หลักเกณฑ์ตาม 1) กับพนักงานที่สมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในภายหลังจากที่ใช้ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและการคำนวณเงินบำเหน็จให้พนักงานผู้ที่ไม่สมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเมื่อเกษียณอายุจะได้รับเงินบำเหน็จด้วย” จากมติคณะรัฐมนตรีตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวมามีสาระสำคัญอยู่สองส่วนมีการปรับเงินเดือนตามโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดีส่วนหนึ่งและวิธีคำนวณเงินบำเหน็จอีกส่วนหนึ่ง พิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นได้ว่า โจทก์ยอมรับการปรับเงินเดือนตามโครงการรัฐวิสาหกิจที่ดีโดยวิธีเอาค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์เดือนละ 27,860 บาทคูณด้วยจำนวนปีอายุการทำงาน เป็นเงินบำเหน็จที่โจทก์จะได้เท่ากับโจทก์ยอมรับปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีตามคำให้การของจำเลยแล้ว ดังนั้น โจทก์จะเลือกยอมรับมติคณะรัฐมนตรีเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการปรับเงินเดือนของโจทก์ แต่กลับไม่ยอมรับส่วนที่เกี่ยวกับวิธีคำนวณเงินบำเหน็จของโจทก์หาได้ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การคำนวณเงินบำเหน็จของโจทก์ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีตามคำให้การของจำเลย โจทก์จึงเป็นฝ่ายแพ้คดีและพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share