คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9649/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลแรงงานพิพากษาคดีโดยวินิจฉัยพยานหลักฐานฝ่าฝืนจากคำพยานหลักฐานในสำนวน เช่น วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของจำเลยก็ดี เอกสารหมาย ล.1 ถึงล.13 เป็นรายงานการปฏิบัติงานที่ไม่ชอบของโจทก์ แต่ที่จริงเป็นเอกสารที่มีข้อความชมเชยโจทก์ก็ดี และควรวินิจฉัยว่าพยานบุคคลที่โจทก์นำมาสืบรับฟังได้ว่าโจทก์ปฏิบัติงานมาด้วยดี ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยล้วนแต่เป็นพนักงานของจำเลยไม่ควรรับฟังก็ดี ปรากฏว่าศาลแรงงานมิได้วินิจฉัยฝ่าฝืนพยานหลักฐานดังกล่าวโดยมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์มีความผิดเพราะเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของจำเลย ส่วนพยานเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.13 ตรวจดูแล้วก็มิใช่หนังสือชมเชยการปฏิบัติงานของโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่ามีข้อความชมเชยว่าโจทก์ปฏิบัติงานดีก็ไม่มีปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นเอกสารใด คงมีแต่เอกสารหมาย จ.7และ จ.8 ที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานมิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้น ล้วนแต่โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ส่วนที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ตักเตือนเป็นหนังสือ และศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ถูกรองกรรมการผู้จัดการของจำเลยเขียนหนังสือเตือนให้ปรับปรุงตัวใหม่ก็มิใช่หนังสือเตือนตามกฎหมายนั้น เป็นเพียงการนำมาประกอบเหตุผลในการวินิจฉัยว่าพฤติกรรมในการทำงานของโจทก์มีอย่างไรเท่านั้น เพราะในกรณีเลิกจ้าง และจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่ามีการเตือนเป็นหนังสือหรือไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ก็มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวล้วนแต่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสุดท้ายของเดือน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้นั้น จำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.9จำนวนเงิน 73,920 บาท ซึ่งแยกเป็นค่าชดเชย 63,350 บาท กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 10,560 บาท โจทก์ยอมรับว่าค่าชดเชยถูกต้อง คงโต้แย้งเฉพาะสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนี้ เมื่อจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์วันที่ 31กรกฎาคม 2532 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือน จึงเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งตามที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 582วรรคหนึ่ง ซึ่งนายจ้างอาจจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่บัญญัติในมาตรา 582 วรรคสอง เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างอีก 1 เดือน เท่านั้น ดังนั้นโจทก์จึงได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล้วงหน้าครบถ้วนแล้ว

Share