คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4107/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อบังคับการทำงานของผู้ร้องกำหนดประเภทการลงโทษ ไว้โดยมิได้ระบุขั้นตอนการลงโทษไว้ ผู้ร้องจึงไม่จำต้อง ลงโทษตามขั้นตอนในข้อบังคับการทำงานผู้ร้องอาจ เลือกวิธีใด ๆ ตามข้อบังคับการทำงาน โดยพิจารณา จากความหนักเบาของความผิดของพนักงานแต่ละคนผู้คัดค้านกระทำผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ทำงานโดยไม่ยำเกรงต่อข้อบังคับการทำงานของผู้ร้องการกระทำของผู้คัดค้านไม่เป็นเยี่ยงอย่างอันดี ทำให้แตกความสามัคคี ยากแก่การปกครองบังคับบัญชากรณีจึงมีเหตุสมควรให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ผู้คัดค้านให้การว่า ผู้คัดค้านกระทำการตามคำร้องไปเพราะป้องกันตัว
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านส่วนที่ผู้ร้องขอให้ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยมาด้วยนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างแล้วผู้ร้องจะต้องเป็นผู้ดำเนินการต่อไปไม่ใช่ถือคำสั่งศาลเป็นคำสั่งแทนผู้ร้องได้ จึงให้ยกคำขอส่วนนี้เสีย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยัติ ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าผู้คัดค้านเป็นลุกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้คัดค้านและนางสาวมะลิ ทองคำ ทะเลาะและทำร้ายซึ่งกันและกันในขณะปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ทำงานอันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับการทำงานของผู้ร้อง หมวด 6 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 21.9 และ ข้อ 22 ซึ่งกำหนดโทษไว้ดังนี้
22.1 ภาคทัณฑ์และดัดสวัสดิการ เช่น คูปองอาหารกลางวัน
22.2 ตัดเงินค่าจ้าง 5-20 เปอร์เซ็นต์
22.3 งดการพิจารณาให้เงินรางวัลประจำปีหรืองดการพิจารณาขั้นค่าจ้างปีนั้น ๆ
22.4 พักงาน
22.5 เลิกจ้าง
การลงโทษพนักงานไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้วบริษัทอาจเลือกวิธีใด ๆ ตามที่กล่าวมาแล้วโดยพิจารณาจากความหนักเบาของความผิดของพนักงานแต่ละคนดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำผิดของผู้คัดค้านเป็นการกระทำผิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ทำงานโดยไม่ยำเกรงต่อข้อบังคับการทำงานของผู้ร้อง ไม่เป็นเยี่ยงอย่างอันดีทำให้แตกแยกความสามัคคียากแก่การปกครองบังคับบัญชา กรณีจึงมีเหตุสมควรให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้นั้นเป็นการวินิจฉัยจากความหนักเบาของความผิดที่ผู้คัดค้านได้กระทำ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share