แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ โจทก์ให้จำเลยผ่อนชำระเงินเป็นงวด งวดละ 7,000 บาท โดยโจทก์หักเงินเดือนจำเลยทุก ๆ สิ้นเดือน และจะหักเงินโบนัสประจำปีของทุก ๆ ปี เป็นเงื่อนไขสำคัญในการชำระหนี้ เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลย วิธีการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันย่อมไม่สามารถกระทำต่อไปได้อีก แต่ก่อนหนี้จะถึงกำหนดชำระในงวดเดือนกันยายน 2541 จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์เพื่อขอชำระหนี้โดยการโอนเงินค่างวดเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ โดยให้โจทก์แจ้งหมายเลขบัญชีและธนาคารที่โจทก์ให้โอนเงินให้จำเลยทราบเพื่อจะได้โอนเงินให้ทุกวันสิ้นเดือน โจทก์ได้รับหนังสือแล้ว แต่หาแจ้งให้จำเลยทราบไม่ จำเลยจึงต้องแจ้งโจทก์อีก 2 ครั้ง แต่โจทก์กลับเพิกเฉยเช่นเดิม จำเลยจึงได้ชำระหนี้โจทก์โดยส่งเงินทางไปรษณีย์ธนาณัติ แต่โจทก์กลับปฏิเสธไม่ยอมรับ ซ้ำกลับทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดโดยอ้างว่าจำเลยผิดนัดจนจำเลยต้องนำเงินไปวางชำระหนี้ที่สำนักงานวางทรัพย์ แสดงให้เห็นถึงความขวนขวายที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เพื่อขอบังคับจำเลยชำระหนี้ทั้งหมดเป็นการอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่อีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 475,000 บาท ตกลงให้โจทก์หักเงินเดือน เดือนละ 7,000 บาท ทุกสิ้นเดือน นับแต่เดือนมีนาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากผิดนัดไม่ชำระหนี้ยินยอมให้โจทก์เรียกร้องหนี้ที่ค้างชำระคืนทั้งหมด ต่อมาจำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2541 โจทก์จึงไม่ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว นับแต่เดือนกันยายน 2541 เป็นต้นไป โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ที่ยังค้างชำระ 433,000 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคบจำเลยชำระเงิน 460,062 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 433,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ให้จำเลยซื้อรถยนต์เพื่อใช้เป็นพาหนะในการติดต่องานโดยโจทก์ทดรองจ่ายเงินค่ารถให้และจะหักชำระจากเงินเดือนทุกเดือนและจากเงินโบนัสที่จำเลยจะได้รับในสิ้นปี หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ โดยกำหนดให้ชำระเงินดังกล่าวด้วยวิธีหักชำระจากเงินเดือนทุกสิ้นเดือน เดือนละ 7,000 บาท และจะหักด้วยเงินโบนัสประจำปีของทุกปี จนกว่าจะครบ หากชำระเงินไม่ครบให้เรียกร้องติดตามหนี้ดังกล่าวทั้งหมดคืน ต่อมาโจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยไม่เป็นธรรม โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเป็นเงินหลายแสนบาท ซึ่งสามารถหักชำระหนี้ดังกล่าวได้แต่โจทก์ไม่ยอมหักชำระ เมื่อมีการเลิกจ้างจำเลยแล้วเงื่อนไขการหักชำระเงินจากเงินเดือนจึงไม่อาจเป็นไปได้ จำเลยได้ติดต่อขอหมายเลขบัญชีธนาคารของโจทก์เพื่อจำเลยจะได้ชำระเงินดังกล่าวคืน แต่เจ้าหน้าที่โจทก์ไม่ยอมแจ้งจนล่วงเลยถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2541 จำเลยได้ส่งเงินค่างวดประจำเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม 2541 ไปทางไปรษณีย์ธนาณัติ แต่โจทก์ไม่ยอมรับ จำเลยจึงนำเงินไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี ทุกเดือนและแจ้งให้โจทก์ไปรับตลอดมา แต่โจทก์ไม่ยอมไปรับ กลับใช้สิทธิโดยไม่สุจริต มีหนังสือทวงถามและฟ้องคดีนี้เรียกเงินคืนทั้งหมด ตามข้อตกลงในหนังสือรับสภาพหนี้มิได้กำหนดว่า หากมีการผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าเป็นการผิดนัดทุกงวด และให้เรียกคืนทั้งหมดได้ทันที เมื่อโจทก์เพียงยังไม่ได้รับเงินเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม 2541 เพียงสองงวด โจทก์ย่อมมีสิทธิเพียงเรียกให้จำเลยชำระเงินค่างวดสองเดือนดังกล่าวและต้องกำหนดในการทวงถามว่าหากไม่ชำระจะเรียกคืนทั้งหมดแต่โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว กลับกลั่นแกล้งใช้สิทธิเรียกคืนทั้งหมดโดยไม่ทวงถามส่วนที่ค้างชำระเพียงสองงวดก่อน หนังสือทวงถามให้ชำระหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมิได้ประพฤติผิดสัญญาตามข้อตกลงหนังสือรับสภาพหนี้ แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิด จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 460,062 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 433,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ขณะที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงิน 475,000 บาท มีเงื่อนไขว่าจำเลยจะผ่อนชำระเป็นงวด งวดละ 7,000 บาท โดยโจทก์จะหักเงินเดือนทุก ๆ สิ้นเดือน และจะหักเงินโบนัสประจำปีทุกปี จนกว่าจะครบ ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 โจทก์เลิกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 และจำเลยผ่อนชำระเงินแก่โจทก์เพียงงวดสิ้นเดือนสิงหาคม 2541 เป็นจำนวน 6 งวด เป็นเงิน 42,000 บาท ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยผิดนัดชำระหนี้จนเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้หรือไม่ แต่เห็นสมควรวินิจฉัยตามประเด็นในคำแก้ฎีกาของจำเลยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.4 โจทก์ให้จำเลยผ่อนชำระเป็นงวด งวดละ 7,000 บาท โดยโจทก์หักเงินเดือนจำเลยทุก ๆ สิ้นเดือน และจะหักเงินโบนัสประจำปีของทุก ๆ ปี เป็นเงื่อนไขสำคัญในการชำระหนี้ เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลย วิธีการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันย่อมไม่สามารถกระทำต่อไปได้อีก ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนหนี้จะถึงกำหนดชำระในงวดเดือนกันยายน 2541 จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์เพื่อขอชำระหนี้โดยการโอนเงินค่างวดเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ โดยให้โจทก์แจ้งหมายเลขบัญชีและธนาคารที่โจทก์ให้โอนเงินให้จำเลยทราบเพื่อจะได้โอนเงินให้ทุกวันสิ้นเดือนตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ได้รับหนังสือแล้ว แต่หาแจ้งให้จำเลยทราบไม่ จำเลยจึงต้องแจ้งโจทก์อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 30 กันยายน 2541 และวันที่ 29 ตุลาคม 2541 แต่โจทก์กลับเพิกเฉยไม่แจ้งให้จำเลยทราบเช่นเดิม จำเลยจึงได้ชำระหนี้โจทก์โดยส่งเงินทางไปรษณีย์ธนาณัติตามเอกสารหมาย ล.2 แต่โจทก์กลับปฏิเสธไม่ยอมรับ ซ้ำกลับให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดโดยอ้างว่าจำเลยผิดนัดจนจำเลยต้องปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยวิธีการนำเงินไปวางชำระหนี้ที่สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี การกระทำของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความขวนขวายที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หาได้มีเจตนาหรือจงใจที่จะไม่ชำระหนี้ไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์ที่ไม่รับชำระหนี้เป็นไปโดยไม่สุจริต การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เพื่อขอบังคับจำเลยชำระหนี้ทั้งหมดเป็นการอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนจำเลย.