แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สับปะรด เป็นพืชถาวรจำพวกใบเลี้ยงเดี่ยว ที่มีอายุหลายปี ลำต้นสับปะรด ไม่มีเนื้อไม้ให้เห็นเด่นชัด สับปะรด จึงไม่ใช่ไม้ยืนต้น นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของจำเลยที่ 1ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลาอำเภอศรีราชาและตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุงจังหวัด ชลบุรี พ.ศ. 2521 คณะกรรมการเวนคืนดังกล่าวย่อมมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนให้ตกลงกันในเรื่องจำนวนค่าทดแทนตามมาตรา 18222526แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะพิพาท เมื่อคณะกรรมการเวนคืนได้รับการแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการเวนคืนแต่งตั้งย่อมเป็นตัวแทนของคณะกรรมการเวนคืนดังนั้นการกระทำของคณะอนุกรรมการดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและข้อตกลงที่คณะอนุกรรมการได้กระทำไว้กับโจทก์จึงเป็นการกระทำแทนคณะกรรมการเวนคืนและเมื่อคณะกรรมการเวนคืนก็ได้เห็นชอบตามข้อตกลงดังกล่าว จึงย่อมมีผลใช้บังคับ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ที่ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ ตำบลทุ่งสุขลาอำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีพ.ศ. 2521 และเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากการถูกเวนคืนทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนคือที่ดินจำนวน 40 แปลง เป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 5,856,875 บาท อาคารสิ่งปลูกสร้าง 37 หลังเป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 1,124,508 บาท สิ่งปลูกสร้างที่รื้อถอนไม่ได้ (บ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลา) จำนวน 58 บ่อ เป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 16,210,221 บาท ไม้ยืนต้นจำนวน 35 รายการเป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 2,838,490 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น26,030,094 บาท โจทก์กับคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ทำความตกลงเรื่องเงินค่าทดแทนกันเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 23กันยายน 2524 ปรากฏตามบันทึกข้อตกลงและรายละเอียดทรัพย์สินที่ถูกเวนคืน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 หลังจากทำความตกลงกับโจทก์แล้วคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้เสนอเรื่องดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการและกรรมการจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ดำเนินการเบิกเงินมาจ่ายให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง แต่จำเลยทั้งสองกลับนำข้อตกลงดังกล่าวอันเป็นข้อตกลงที่ยุติแล้วเสนอและนำเข้าประชุมระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 ซึ่งเป็นคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวอนุมัติการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์และผู้มีสิทธิอื่น ที่ประชุมมีมติให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์และผู้มีสิทธิอื่นตามจำนวนที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์และผู้มีสิทธิอื่น แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกเงินค่าทดแทนดังกล่าวมาแล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 ได้มีมติให้จ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์เฉพาะค่าที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้าง และไม้ยืนต้นอื่นเป็นเงิน 7,076,613 บาท ส่วนต้นสับปะรด ต้นยูคาลิปตัสบ่อเลี้ยงกุ้ง และบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งมีค่าทดแทนส่วนนี้รวมกันจำนวน18,953,481 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยอมจ่ายให้โจทก์โดยอ้างว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่มีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอศรีราชา และอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2516 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่1 มกราคม พ.ศ. 2517 ความจริงแล้วโจทก์ได้ขุดบ่อเลี้ยงกุ้งบ่อเลี้ยงปลา และปลูกต้นยูคาลิปตัส ต้นสับปะรดมาก่อนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ และได้บำรุงรักษาผลประโยชน์ตลอดมา เมื่อวันที่18 เมษายน 2525 จำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าทดแทนค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้อื่น ๆ เป็นเงิน 7,076,613 บาท ให้แก่โจทก์ยังคงค้างอีก 18,953,481 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสิบหกต้องรับผิดจ่ายเงินค่าทดแทนที่ยังค้างอยู่ดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสิบหกไม่ใช้เงินค่าทดแทนซึ่งได้กำหนดไว้ตามข้อตกลงภายใน 90 วันนับแต่วันที่ 23 กันยายน 2524 จำเลยทั้งสิบหกจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 16ชำระเงินค่าทดแทนที่ค้างอยู่แก่โจทก์จำนวน 18,953,481 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และจำเลยที่ 8 ถึงที่ 16 ยื่นคำให้การมีใจความทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 2 กระทำในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3ถึงที่ 16 กระทำในฐานะเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 2ถึงที่ 16 จึงไม่ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างใดบ้าง สำหรับค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 รับผิดฐานละเมิดในฐานะส่วนตัวนั้นขาดอายุความแล้ว เพราะล่วงเลยกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 บันทึกข้อตกลงระหว่าคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กับโจทก์ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 นั้น ได้กระทำขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือขณะประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอศรีราชา และอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2516นั้น โจทก์มีบ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลา อยู่ในบริเวณที่ที่ถูกเวนคืนเพียง 6 บ่อเท่านั้น แต่คณะกรรมการเวนคืนได้ตกลงจ่ายค่าทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์เป็นจำนวนถึง 58 บ่อ ค่าทดแทนส่วนนี้จึงสูงกว่าความเป็นจริงและขณะประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวโจทก์ไม่มีต้นยูคาลิปตัสและต้นสับปะรดอยู่ในบริเวณที่ถูกเวนคืนสำหรับต้นสับปะรดไม่ใช่ไม้ยืนต้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน การที่คณะกรรมการเวนคืนได้ตกลงจ่ายค่าทดแทนสำหรับต้นสับปะรดให้แก่โจทก์จึงเป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยต่อสู้อีกว่กรรมการเวนคืนที่ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1ไม่ใช่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ลงชื่อในบันทึกจึงกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย และบุคคลที่ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นผู้แทนหรือตัวแทนของจำเลย และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้ค่าทดแทนได้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามฟ้อง การเรียกดอกเบี้ยของโจทก์เป็นการเรียกร้องเกินกว่าเหตุ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน3,403,640.42 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 3,234,965 บาท นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2524 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน16,745,551 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2524 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในชั้นนี้จึงมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้เงินค่าทดแทนบ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลา ต้นยูคาลิปตัส และต้นสับปะรด ให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด เห็นว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมติของคณะรัฐมนตรีเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2521 จำนวน 6 คน ตามเอกสารหมาย ล.27 เช่นนี้คณะกรรมการเวนคืนดังกล่าวย่อมมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนให้ตกลงกันในเรื่องจำนวนค่าทดแทนตามมาตรา 18, 22, 25, 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะพิพาท เมื่อคณะกรรมการเวนคืนได้รับการแต่งตั้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการเวนคืนแต่งตั้งย่อมเป็นตัวแทนของคณะกรรมการเวนคืน ดังนั้น การกระทำของคณะอนุกรรมการดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย และข้อตกลงที่คณะอนุกรรมการได้กระทำไว้กับโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5จึงเป็นการกระทำแทนคณะกรรมการเวนคืนและคณะกรรมการเวนคืนก็ได้เห็นชอบตามข้อตกลงดังกล่าวจึงย่อมมีผลใช้บังคับ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าข้อตกลงต่าง ๆ ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมายจ.1 ถึง จ.5 ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ข้อนี้ได้ความจากโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อคณะอนุกรรมการได้ทำความตกลงกับโจทก์และบันทึกข้อตกลตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5 แล้ว ได้เสนอข้อตกลงดังกล่าวต่อคณะกรรมการเวนคืน คณะกรรมการเวนคืนเห็นชอบตามข้อตกลงดังกล่าวจึงได้เสนอต่อจำเลยที่ 1 เพื่อพิจารณา จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้เสนอข้อตกลงดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5 ต่อคณะกรรมการจำเลยที่ 1ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 เป็นกรรมการเพื่อพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 ได้พิจารณาแล้วจึงมีมติอนุมัติให้จำเลยที่ 1จ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ได้ตามจำนวนเงินตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5 เหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งหมดเนื่องจากมีการร้องเรียนจากสหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ เห็นว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5นั้น คณะกรรมการเวนคืนเห็นชอบด้วยกับคณะอนุกรรมการที่ได้พิจารณาและพยายามทำความตกลงกับโจทก์ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนอันจะต้องใช้ให้ การที่คณะอนุกรรมการได้ทำความตกลงกับโจทก์ดังกล่าวและโจทก์ยินยอมตกลงด้วยนั้น คณะอนุกรรมการคงต้องพิจารณาเห็นว่าอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินของโจทก์มีมาก่อนที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอศรีราชาและอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2516 ใช้บังคับ ทั้งเมื่อคณะกรรมการเวนคืนเสนอบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5ต่อคณะกรรมการจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 คณะกรรมการจำเลยที่ 1 ก็เห็นชอบและอนุมัติให้จ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ได้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว หากคณะอนุกรรมการไม่มีอำนาจกระทำการแทนคณะกรรมการเวนคืน คณะกรรมการจำเลยที่ 1 ก็น่าจะคัดค้านหรือทักท้วงและมีอำนาจที่จะไม่อนุมัติให้จ่ายเงินทดแทนตามบันทึกดังกล่าวได้แต่คณะกรรมการจำเลยที่ 1 ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ จึงแสดงว่าบันทึกข้อตกลงที่คณะอนุกรรมการทำไว้กับโจทก์โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเวนคืนแล้ว เป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นข้อตกลงที่ถูกต้องตามความเป็นธรรมตามความเห็นของคณะกรรมการเวนคืนและของคณะกรรมการจำเลยที่ 1 ซึ่งได้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทให้แก่โจทก์ได้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เหตุที่จำเลยที่ 1ไม่จ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ทั้ง ๆ ที่ได้เบิกเงินทดแทนจำนวนตามบันทึกข้อตกลงจากกระทรวงการคลังมาแล้ว ก็เนื่องจากมีการร้องเรียนจากสหภาพแรงงานของจำเลยที่ 1 คัดค้านการจ่ายเงินทดแทนรายนี้ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการเวนคืนได้แต่งตั้งไปทำข้อตกลงกับโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้กระทำไปโดยไม่ชอบหรือโดยไม่สุจริตแต่ประการใด เชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 ถึงจ.5 มีอยู่ก่อนที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอศรีราชาและอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีพ.ศ. 2516 ประกาศใช้บังคับ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าบ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลา ต้นยูคาลิปตัส และต้นสับปะรด มีมาก่อนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวประกาศใช้ ทั้งไม่มีข้อโต้เถียงว่าราคาเป็นธรรมหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยถึงราคาทรัพย์สินดังกล่าวเพราะคณะอนุกรรมการได้ตกลงกำหนดราคาไว้โดยโจทก์ยอมรับและผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการเวนคืนและคณะกรรมการจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้วย่อมถือได้ว่าเป็นการกำหนดราคาที่ถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าทดแทนบ่อเลี้ยงกุ้งบ่อเลี้ยงปลา และต้นยูคาลิปตัส ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีคงมีปัญหาต่อไปว่าต้นสับปะรดเป็นไม้ยืนต้นตามมาตรา 11(4)แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497หรือไม่ พิเคราะห์แล้วได้ความจากคำเบิกความของหม่อมหลวงจารุพันธ์ทองแถม พยานจำเลยซึ่งรับราชการในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ติดต่อและสอบถามมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าสับปะรดเป็นไม้ยืนต้นหรือไม่ ตามหนังสือสอบถามเอกสารหมาย ล.46 ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มอบเรื่องให้พยานเป็นผู้วินิจฉัย พยานวินิจฉัยแล้วว่า คำว่าไม้จะต้องมีเนื้อไม้ และยืนต้นจะต้องเป็นต้นที่มีลำต้นยืนขึ้นไปในอากาเป็นลำต้นเดี่ยว ซึ่งเป็นลำต้นประธาน จึงจะเรียกว่าไม้ยืนต้นได้ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “ทรี” ยกตัวอย่างไม้ยืนต้น เช่น ต้นมะขามมะม่วง ขนุน เงาะ ลำไย เป็นต้น ส่วนสับปะรดในภาษาอังกฤษไม่ใช้คำว่า”ทรี” แต่เป็นพืชถาวรหรือพืชหลายฤดู และไม่ใช่พืชล้มลุกลำต้นสับปะรไม่มีเนื้อไม้ให้เห็นเด่นชัดดังเช่นไม้ยืนต้นอื่น ๆ พยานจึงวินิจฉัว่าสับปะรดไม่ใช่ไม้ยืนต้น แต่เป็นพืชถาวรจำพวกใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีอายุหลายปี ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.47 และตำราในมหาวิทยาลัยก็ยึดหลักที่ว่าสับปะรดไม่ใช่ไม้ยืนต้น จนกระทั่งปัจจุบันนี้เห็นว่า คำเบิกความของหม่อมหลวงจารุพันธ์พยานจำเลยมีเหตุผลประกอบด้วยหลักวิชาการน่าเชื่อถือมีน้ำหนักดีกว่าคำเบิกความของนายทนงจิตร วงษ์ศิริ พยานโจทก์ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่เบิกความประกอบความเห็นตามเอกสารหมาย จ.36 ว่า ต้นสับปะรดเป็นไม้ยืนต้นอายุสั้นแต่พยานปากนี้เคยให้ความเห็นแก่จำเลยมาก่อนว่ต้นสับปะรดเป็นพืชล้มลุกถาวรเช่นเดียวกับต้นกล้วยตามเอกสารหมายล.45 ดังนี้ การให้ความเห็นของนายทนงจิตรพยานโจทก์จึงไม่แน่นอนไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และไม่สามารถหักล้างคำวินิจฉัยของหม่อมหลวงจารุพันธ์พยานจำเลยได้ เมื่อได้พิจารณาตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 แล้ว คำว่า “ยืนต้น” หมายถึงเรียกต้นไม้ใหญ่ที่มีผลและอายุยืนนาน ส่วนคำว่า “สับปะรด” คือชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่ง ผลมีตาโดยรอบ รสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ใบเป็นกาบยามีหนามและมีใย ไม่มีลำต้นปรากฏบนพื้นดิน หรือตามพจนานุกรมฉบับเดียวกันนี้ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2530 ก็ได้ให้ความหมายพืชชนิดนี้ว่า “ชื่อไม้ล้มลุก…ไม่มีลำต้นปรากฏบนพื้นดิน…”เช่นนี้เห็นว่า ต้นสับปะรดแม้จะแตกหน่อมีอายุหลายปี แต่ก็เป็นพืชชนิดที่ไม่ใช่ไม้ยืนต้นตามคำวินิจฉัยของหม่อมหลวงจารุพันธ์พยานจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนต้นสับปะรดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนบ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อเลี้ยงปลา จำนวน 58 บ่อ เป็นเงิน16,210,221 บาท กับค่าต้นไม้ยืนต้นเว้นต้นสับปะรด เป็นเงินอีก535,330 บาท รวมเป็น 16,745,551 บาท นั้น ปรากฏตามบัญชีรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ถูกเวนคืนประเภทต้นไม้ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยแยกต้นไม้เป็น 3 จำพวก คือ ต้นยูคาลิปตัส เป็นเงิน 440,100 บาท ต้นสับปะรด เป็นเงิน 2,303,160 บาท และต้นไม้อื่นเป็นเงิน 95,230 บาท เฉพาะค่าทดแทนต้นไม้อื่น ๆ จำนวน 95,230 บาทนั้น จำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าทดแทนให้โจทก์รับไปพร้อมกับค่าเวนคืนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารตามเอกสารหมาย จ.6แล้ว ดังนั้นศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขค่าทดแทนส่วนนี้ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 16,650,321 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23ธันวาคม 2524 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับกันไปทั้งสองฝ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.