แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะวินิจฉัยว่าการแก้ไขคำฟ้องอย่างไรเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยนั้น จำเป็นต้องดูคำบรรยายฟ้องของโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาในการใช้บัตรไดเนอร์สคลับที่โจทก์ออกให้ไปใช้ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2532 โดยจำเลยค้างชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 20,620 บาท โจทก์ทวงถามแล้วไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์จำนวน 20,620 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมผิดนัดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 คำนวณถึงวันฟ้องจำนวน 4,646.37 บาท รวมเป็นเงิน25,266.37 บาท แต่โจทก์กลับบรรยายฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน4,646.37 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมผิดนัดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ในต้นเงินจำนวน 20,620 บาท เห็นได้ชัดว่าการพิมพ์ฟ้องของโจทก์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากเจตนา ต้องถือว่าเป็นการผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อย ซึ่งโจทก์ย่อมยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมได้แม้ภายหลังวันชี้สองสถาน ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 180
อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่รับวินิจฉัยโดยยกเหตุคนละเหตุว่า ข้ออุทธรณ์ของจำเลยนั้นจำเลยไม่เคยให้การต่อสู้คดีไว้ และจำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยไม่ชอบก็ตามก็ถือได้ว่าไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249
ตามวิธีการของการใช้บัตรไดเนอร์สคลับ เมื่อจำเลยนำบัตรของโจทก์ไปใช้ โจทก์จะชำระหนี้แทนจำเลย จำเลยมีหน้าที่จะชำระเงินคืนโจทก์ภายในกำหนด ในกรณีนี้จำเลยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมผิดนัด แต่หากจำเลยไม่ชำระเงินคืนให้โจทก์ภายในกำหนด โจทก์จะเรียกค่าธรรมเนียมผิดนัดอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน โดยไม่ปรากฏว่าเรียกค่าเสียหายอย่างอื่นอีก จึงเห็นได้ว่าค่าธรรมเนียมผิดนัดไม่ใช่ดอกเบี้ยตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 แต่มีลักษณะคล้ายเบี้ยปรับ เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมผิดนัดดังกล่าวได้