แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลจังหวัดระยองได้มีหนังสือแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบว่าจัดการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ ศาลชั้นต้นให้หมายแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าโจทก์ทั้งสองจะดำเนินการอย่างไรให้แถลงภายใน15 วัน โจทก์ทั้งสองทราบคำสั่งแล้วไม่มาแถลงภายในเวลาที่กำหนด ถือว่าโจทก์ทั้งสองทิ้งฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2)ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247
คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การที่ศาลพิพากษาคดีอาญาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้จึงพิพากษายกฟ้องนั้น เป็นกรณีที่คำพิพากษาคดีอาญาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโดยประมาทหรือไม่ไว้แน่นอนแล้ว เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาจึงผูกพันโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งในการพิพากษาคดีนี้ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46
โจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 174,338 บาท ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 จ – 3838 กรุงเทพมหานคร และมีอำนาจฟ้องหรือไม่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใดนั้นล้วนเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
เมื่อการพิพากษาคดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อโจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมแทนแก่โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาประกันภัยแล้วรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 จึงได้รับผลของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ที่ 1 ด้วย