คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4073/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศ พ.ศ. 2535 ของจำเลย เป็นข้อบังคับที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยออกใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 31(2) แห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวได้ให้คณะกรรมการมีอำนาจวางระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานต่าง ๆ ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำเลยได้ ดังนั้น ข้อบังคับว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศ พ.ศ. 2535จึงเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานของจำเลยโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับการงานของหน่วยงานอื่นหรือของบุคคลภายนอกและตามข้อ 9 แห่งข้อบังคับดังกล่าวซึ่งบัญญัติไว้ว่า”บุคคลภายนอกที่องค์การโทรศัพท์มีความจำเป็นขอให้ไปปฏิบัติงานต้องได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการก่อน การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ผู้อำนวยการเป็นผู้กำหนดได้ตามความเหมาะสมแต่ต้องไม่เกินอัตราสูงสุดตามข้อบังคับนี้” คำว่า “ปฏิบัติงาน”ตามที่บัญญัติไว้ในข้อนี้ก็เหมือนกับคำว่า “ปฏิบัติงาน” ที่บัญญัติไว้ในแห่งอื่น ๆ ตลอดข้อบังคับ กล่าวคือ มิได้กล่าวไว้ให้ชัดแจ้งว่าเป็นการปฏิบัติงานของจำเลยหรืองานของหน่วยงานอื่นหรือของบุคคลภายนอก แต่การที่จำเลยจะขอให้บุคคลภายนอกไปปฏิบัติงานตามข้อนี้ ย่อมหมายถึงงานของจำเลยเท่านั้น เพราะถ้าเป็นงานของหน่วยงานอื่นหรือของบุคคลภายนอกอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จำเลยจะมีคำสั่งให้พนักงานไปปฏิบัติโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยได้ ฉะนั้นการที่ผู้อำนวยการจำเลยอนุมัติให้พนักงานคนใดไปปฏิบัติงานโดยมีสิทธิเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักได้ตามข้อบังคับว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศ พ.ศ. 2535 จึงต้องเป็นการปฏิบัติงานของจำเลยเท่านั้น หากเป็นงานของหน่วยงานอื่นหรือของบุคคลภายนอก พนักงานผู้นั้นย่อมไม่มีสิทธิเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักจากจำเลยตามข้อบังคับฉบับนี้ได้การที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ขอยืมตัวโจทก์ไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ราชการให้แก่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้อำนวยการจำเลยจึงอนุมัติให้ยืมตัวไป การอนุมัติให้ยืมตัวไปปฏิบัติหน้าที่ราชการให้แก่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุมัติให้ไปปฏิบัติงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำเลย อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักจากจำเลยได้ตามข้อบังคับว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศ พ.ศ. 2535

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2531 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ผู้อำนวยการจำเลยอนุมัติให้โจทก์ไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยช่วยปฏิบัติหน้าที่ราชการให้แก่รัฐมนตรีประจำสำนักงานนายกรัฐมนตรี โจทก์เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 จนถึงวันที่ 10 กันยายน2539 ในการเดินทางไปปฏิบัติราชการนี้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางอัตราวันละ 300 บาท และค่าเช่าที่พักวันละ600 บาท ตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศ พ.ศ. 2535 รวมทั้งสิ้น 315 วัน คิดเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง 94,500 บาท ค่าเช่าที่พัก 189,000 บาท แต่จำเลยไม่จ่ายให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง94,500 บาท และค่าเช่าที่พัก 189,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า แต่โจทก์ไม่มีสิทธิเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศ พ.ศ. 2535 จากจำเลยได้ เนื่องจากเป็นการเดินทางไปปฏิบัติงานตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขอยืมตัวและจำเลยก็อนุมัติให้ยืมตัวไป อันเป็นการปฏิบัติงานให้แก่ส่วนงานภายนอกไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลยแต่อย่างใดทั้งตามระเบียบองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการให้พนักงานไปช่วยปฏิบัติงานกับส่วนงานหรือบุคคลภายนอก พ.ศ. 2539 โจทก์จะต้องไปเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักจากส่วนงานภายนอกหรือบุคคลภายนอก จะเบิกจากจำเลยมิได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางอัตราวันละ 300 บาท และค่าเช่าที่พักอัตราวันละ 600 บาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 25 เมษายน2539 คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยว่า ตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศพ.ศ. 2535 โจทก์มีสิทธิเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักจากจำเลยได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อบังคับว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศ พ.ศ. 2535ดังกล่าว เป็นข้อบังคับที่คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยออกใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 31(2) แห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวได้ให้คณะกรรมการมีอำนาจวางระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานต่าง ๆ ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยได้ ดังนั้นข้อบังคับว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศพ.ศ. 2535 จึงเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานของจำเลยโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับการงานของหน่วยงานอื่นหรือของบุคคลภายนอก และเมื่อพิจารณาข้อ 9 แห่งข้อบังคับดังกล่าวซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลภายนอกที่องค์การโทรศัพท์มีความจำเป็นขอให้ไปปฏิบัติงานต้องได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการก่อน การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ผู้อำนวยการเป็นผู้กำหนดได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่เกินอัตราสูงสุดตามข้อบังคับนี้” จะเห็นว่าคำว่า “ปฏิบัติงาน” ตามที่บัญญัติไว้ในข้อนี้เหมือนกับคำว่า “ปฏิบัติงาน” ที่บัญญัติไว้ในแห่งอื่น ๆ ตลอดข้อบังคับ กล่าวคือ มิได้กล่าวไว้ในชัดแจ้งว่าเป็นการปฏิบัติงานของจำเลยหรืองานของหน่วยงานอื่นหรือของบุคคลภายนอกแต่การที่จำเลยจะขอให้บุคคลภายนอกไปปฏิบัติงานตามข้อนี้ ย่อมหมายถึงงานของจำเลยเท่านั้น เพราะถ้าเป็นงานของหน่วยงานอื่นหรือของบุคคลภายนอกย่อมอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จำเลยจะมีคำสั่งให้พนักงานไปปฏิบัติโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยได้ ฉะนั้นการที่ผู้อำนวยการจำเลยอนุมัติให้พนักงานคนใดไปปฏิบัติงานโดยมีสิทธิเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักไปตามข้อบังคับว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศ พ.ศ. 2535 จึงต้องเป็นการปฏิบัติงานของจำเลย หากเป็นงานของหน่วยงานอื่นหรือของบุคคลภายนอกพนักงานผู้นั้นย่อมไม่มีสิทธิเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักจากจำเลยตามข้อบังคับฉบับนี้ได้ สำหรับโจทก์นั้นสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ขอยืมตัวไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ราชการให้แก่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการจำเลยจึงอนุมัติให้ยืมตัวไป การอนุมัติให้ยืมตัวไปปฏิบัติหน้าที่ราชการให้แก่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุมัติให้ไปปฏิบัติงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจำเลยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักจากจำเลยได้ตามข้อบังคับว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานภายในประเทศ พ.ศ. 2535 ด้วยเหตุนี้ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักเพิ่มขึ้นจากที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จ่ายจึงไม่อาจกระทำได้ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวตามระเบียบว่าด้วยการให้พนักงานไปช่วยปฏิบัติงานกับส่วนงานหรือบุคคลภายนอกพ.ศ. 2539 นั้น ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ

Share