แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 และ ช. ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทมา ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์ เป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 บัญญัติว่า สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้ (5) ให้โดยเสน่หา และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ กฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมในการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสทำไปโดยลำพังนั้น เป็นโมฆะหรือโมฆียะ บัญญัติแต่เพียงว่านิติกรรมนั้นอาจถูกเพิกถอนได้ในภายหลังเท่านั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอน นิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ย่อมสมบูรณ์ โจทก์ไม่จำต้องบอกล้างโมฆียะกรรมแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์จึงเป็นสินสมรส อำนาจในการจัดการสินสมรสดังกล่าว จำเลยที่ 1 และโจทก์จึงต้องจัดการร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 22375 ตำบลวัดพระยาไกร (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวาหรือบางคอแหลม (บางรัก) กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2505 โจทก์กับจำเลยที่ 1 และเรือเอกเชลง ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 22375 ตำบลวัดพระยาไกร (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวาหรือบางคอแหลม (บางรัก) กรุงเทพมหานคร ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 และไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จัดการให้ที่ดินเฉพาะส่วนแก่จำเลยที่ 2 หรือบุคคลใด ๆ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 22375 ตำบลวัดพระยาไกร (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา (บางรัก) กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2505 และยังมิได้มีการจดทะเบียนหย่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2515 จำเลยที่ 1 และเรือเอกเชลง ซื้อที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ 3224 ตำบลบ้านทวาย อำเภอบ้านทวาย (บางรัก) นครหลวง กรุงเทพธนบุรี พร้อมอาคารพาณิชย์ประมาณ 30 ห้อง จากผู้จัดการมรดกพระยาศรีวิกรมาทิตย์ แล้วนำมาแบ่งแยกที่ดินขายพร้อมอาคารพาณิชย์ ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 22375 เป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3224 มีสภาพเป็นทางตัน ซึ่งผู้ซื้ออาคารพาณิชย์ดังกล่าวใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีจำเลยที่ 1 กับเรือเอกเชลงเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท โดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2515 ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 โดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 2 โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้อสองขึ้นวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอน การจดทะเบียนนิติกรรมการให้ที่ดินเฉพาะส่วนในที่ดินพิพาทได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การจดทะเบียนให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 นั้น เป็นการกระทำโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน มิใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกับนางกุ่ยม่วย มารดาจำเลยที่ 2 ที่ได้ทำงานเป็นนายหน้าชี้ช่องให้จำเลยที่ 1 และเรือเอกเชลงไปซื้อที่ดินแปลงใหญ่รวมทั้งแปลงพิพาทจากบุตรพระยาศรีวิกรมาทิตย์โดยตกลงว่าจะให้ที่ดินเป็นการตอบแทน เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างของจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวอย่างเลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 และเรือเอกเชลงให้มารดาจำเลยที่ 2 พาไปซื้อที่ดินจากบุตรพระยาศรีวิกรมาทิตย์ และตกลงว่าจะให้ค่านายหน้าเป็นที่ดินบางส่วนที่ทั้งสองคนจะซื้อจากบุตรพระยาศรีวิกรมาทิตย์ และต่อมาได้มีการตกลงซื้อ นั้น เห็นว่า เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกพระยาศรีวิกรมาทิตย์ทำนิติกรรมตกลงยินยอมให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด และจำเลยที่ 1 กับเรือเอกเชลงเข้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ 3224 ตำบลวัดพระยาไกร อำเภอยานนาวา นครหลวงกรุงเทพธนบุรี โดยมีค่าตอบแทน ทำนิติกรรมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2515 จำเลยที่ 1 และเรือเอกเชลงได้ทำบันทึกไว้ว่า จำเลยที่ 1 และเรือเอกเชลงขอยืนยันว่าในการทำนิติกรรมรายทั้งสองคนได้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง มีการตกลงกันมาอย่างแน่นอนแล้วที่จะทำนิติกรรมสัญญาและขอจดทะเบียน หากเกิดการผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของที่ดินหรือผิดความประสงค์ ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบตัวเอง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงระบุไว้ที่ใดเลยว่าการทำนิติกรรม มีมารดาจำเลยที่ 2 หรือตัวจำเลยที่ 2 เป็นนายหน้าชี้ช่องแต่อย่างใด และหากมีข้อตกลงหรือสัญญาว่าจะยกที่ดินที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ตามข้ออ้างจริง จำเลยที่ 2 ก็น่าจะต้องรีบติดตามทวงถามให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาโดยเร็ว ไม่ใช่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปนานถึง 35 ปี จนถึงปี 2550 จำเลยที่ 2 จึงค่อยนำเอา หนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา นอกจากนี้คู่สัญญายังได้ตีราคาที่ดินที่ยกให้โดยเสน่หา เป็นเงิน 4,800,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าราคาที่ดินที่จำเลยที่ 1 และเรือเอกเชลงซื้อมาจากผู้จัดการมรดกของพระยาศรีวิกรมาทิตย์มาก โดยจำเลยที่ 1 และเรือเอกเชลงจดทะเบียนเข้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมจำนวน 607 ส่วน ใน 1158 ส่วน หรือ 1 ไร่ 2 งาน 7 ตารางวา ตกลงให้ค่าตอบแทน 3,000,000 บาท ซึ่งเป็นที่ดินแปลงใหญ่กว่าที่ดินที่พิพาท ซึ่งมีเนื้อที่ 81 เศษ 2 ส่วน 10 ตารางวา ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ตกลงยกที่ดินพิพาทตามฟ้องราคา 4,800,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาเป็นการตอบแทนที่มารดาจำเลยที่ 2 ชี้ช่องให้จำเลยที่ 1 และเรือเอกเชลงซื้อที่ดินจากผู้จัดการมรดกพระยาศรีวิกรมาทิตย์ในราคา 3,000,000 บาท เมื่อ 35 ปี ที่แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เชื่อว่าจำเลยที่ 2 นำเอาหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทข้อหนึ่งต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ยังไม่บอกล้างโมฆียะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 178 แต่อย่างใด ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และเรือเอกเชลงได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2515 ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสกับโจทก์ เป็นสินสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 บัญญัติว่า สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้ (5) ให้โดยเสน่หา และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ กฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมในการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสทำไปโดยลำพังนั้น เป็นโมฆะหรือโมฆียะ บัญญัติแต่เพียงว่านิติกรรมนั้นอาจถูกเพิกถอนได้ในภายหลังเท่านั้น เมื่อศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอน นิติกรรมการให้ที่ดินโดยเสน่หาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ย่อมสมบูรณ์ โจทก์ไม่จำต้องบอกล้างโมฆียะกรรมแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์จึงเป็นสินสมรส อำนาจในการจัดการสินสมรสดังกล่าว จำเลยที่ 1 และโจทก์จึงต้องจัดการร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดที่ดินเลขที่ 22375 ตำบลวัดพระยาไกร (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา (บางรัก) กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ