คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 271/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นหมายถึงการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอนและมีผลว่า ในระหว่างผ่อนเวลานั้น
เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องไม่ได้ฉะนั้น เพียงแต่เจ้าหนี้ยังไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องเท่านั้น จึงหาเป็นการผ่อนเวลาแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไป 25,730 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันตั้งแต่กู้ไปจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระให้โจทก์ 10,000 บาท แล้วไม่ชำระอีกเลย ขอให้บังคับ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงิน 15,730 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “ผ่อนเวลา” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 กับคำว่า “ผ่อนเวลา” ตามที่เข้าใจกันธรรมดา ๆ อาจมีความหมายไม่ตรงกันก็ได้ผ่อนเวลาตามกฎหมายดังกล่าว หมายถึงการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้น โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องไม่ได้ สำหรับคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 ผ่อนเวลากัน คงปรากฏแต่ว่า โจทก์ยังไม่ได้หลุดพ้นจากความรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด ศาลฎีกาเห็นด้วย

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยที่ 2

Share