คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6424/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 6 ยกเลิกความใน มาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่ง มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาทเป็นคุณมากกว่า มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เดิม ที่ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขใหม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 67, 100/1, 102 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่หลังจากสืบพยานโจทก์แล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่รับว่ามีเมทแอมเฟตามีนและคีตามีนไว้ในครอบครอง แต่ยังคงปฏิเสธในความผิดฐานนำเข้าเมทแอมเฟตามีนและคีตามีน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคหนึ่ง, 67 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (ที่ถูก ให้ลงโทษฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,200,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 53) คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 800,000 บาท กักขังแทนค่าปรับเกิน 1 ปีได้แต่ไม่เกิน 2 ปี (ที่ถูก กรณีจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปีได้แต่ไม่เกิน 2 ปี) ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยมียาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทของกลางตามบัญชีของกลางคดีอาญาและรายงานผลการตรวจพิสูจน์ไว้ในครอบครอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานนำของกลางดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้นำของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายไชยยันต์ คนขับรถรับจ้างที่จำเลยโดยสารมาในคืนเกิดเหตุเบิกความยืนยันว่า ในคืนเกิดเหตุพยานรับจำเลยกับผู้โดยสารชาวมาเลเซียอีกคนหนึ่งมาจากร้านค้าปลอดภาษีฝั่งประเทศมาเลเซีย ห่างจากด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ไม่เกิน 500 เมตร เพื่อไปส่งที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำเลยนั่งด้านหน้าอยู่กับพยาน ผู้โดยสารอีกคนหนึ่งนั้นนั่งด้านหลัง พยานขับรถออกจากร้านค้าดังกล่าวแล้วไปจอดห่างด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอสะเดาไม่เกิน 5 เมตร โดยจำเลยและผู้โดยสารอีกคนหนึ่งนั้นไปประทับตราขาเข้าในหนังสือเดินทาง ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที เนื่องจากเป็นเวลากลางคืนไม่มีคนเข้าออกแล้ว ระหว่างประทับตราหนังสือเดินทาง จำเลยไม่ได้พูดคุยกับบุคคลใด จากนั้นจำเลยเดินมาขึ้นรถ เมื่อออกรถจากด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้วพยานขับรถมุ่งหน้าไปอำเภอหาดใหญ่โดยไม่ได้แวะที่ใดอีก จนพบเจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้จอดรถเพื่อตรวจค้นที่จุดตรวจคลองแงะ ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าตรวจค้นพยานเห็นจำเลยล้วงเอาของกลางจากกระเป๋าเสื้อไปวางไว้บริเวณประตูรถด้านข้างดังที่พยานชี้ยืนยันไว้ตามภาพถ่าย แม้จะฟังว่าพยานไปให้การแก่พนักงานสอบสวนและนำชี้ภาพถ่ายดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ภายหลังเกิดเหตุเป็นเวลานานประมาณ 5 เดือน ดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา แต่ก็ไม่ปรากฏว่าพยานเคยรู้จักและมีสาเหตุใด ๆ กับจำเลยมาก่อนที่จะทำให้เชื่อได้ว่าพยานกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยรับฟังได้ว่าพยานนำชี้ตามภาพถ่ายดังกล่าวและเบิกความตามความเป็นจริง นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจโท คนอง และร้อยตำรวจโท อัฐศิษฏ์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความตรงกันว่า ขณะเข้าตรวจค้นพบของกลางอยู่ที่พื้นรถใกล้ประตูฝั่งคนโดยสารด้านหน้า ตามภาพถ่าย เจือสมคำเบิกความของนายไชยยันต์ และเมื่อสอบถามจำเลยผ่านดาบตำรวจอับดุลเลาะ ซึ่งสามารถพูดภาษามาลายูได้ จำเลยก็รับว่าของกลางดังกล่าวเป็นของจำเลยซื้อมาจากประเทศมาเลเซียในราคาเม็ดละ 50 ริงกิต เพื่อนำมาเสพที่อำเภอหาดใหญ่ พยานทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานกระทำการไปตามหน้าที่ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยปรักปรำจำเลย เชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความตามความจริง แม้พยานทั้งสองจะเป็นพยานบอกเล่า แต่คำเบิกความของพยานก็รับฟังประกอบคำเบิกความของนายไชยยันต์ได้ ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียวว่า ครั้นออกจากด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอสะเดาได้ประมาณ 10 นาที ผู้โดยสารที่นั่งเบาะหลังซึ่งเป็นเพื่อนของจำเลยมอบของกลางให้จำเลยไว้เพื่อเสพ แต่จำเลยก็มิได้ให้การเช่นนั้นไว้เสียตั้งแต่แรกในชั้นสอบสวน คำเบิกความของจำเลยจึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อ ทั้งตามฎีกาของจำเลยก็กลับอ้างว่าจำเลยซื้อของกลางในฝั่งประเทศไทย คำเบิกความและข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยดังกล่าวไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยนำยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 6 ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาทเป็นคุณมากกว่ามาตรา 65 วรรคหนึ่ง เดิม ที่ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 15 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี และปรับ 666,666.66 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share