แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงาน อันเป็นพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) และการพิจารณาคดีแรงงานนั้นจะต้องอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความการพิจารณาคดีในศาลแรงงานและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้โดยเฉพาะแล้ว ซึ่งหาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 แล้ว ในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้นไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 ให้แก่ ช. เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะ ช. ยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อเรียกร้องเอาค่าทำงานในวันหยุดเมื่อล่วงเลยกำหนดอายุความ 2 ปีแล้ว ศาลแรงงานกลางมิได้นำพยานหลักฐานใดที่โจทก์สืบเพิ่มเติมในประเด็นนี้ในชั้นพิจารณาคดีมาพิจารณาประกอบด้วยจึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดของ ช. ดังกล่าว แต่คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อน ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดอันเป็นค่าจ้างนั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ให้มีกำหนดอายุความสองปี และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 (3) บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง ดังนั้นสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 รวม 6 วัน จึงเกินกว่ากำหนด 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้ และไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 43/2547 ลงวันที่ 3 กันยายน 2547
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ว่า การที่โจทก์มิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความในชั้นสอบสวนข้อเท็จจริงของพนักงานตรวจแรงงาน แล้วจะสามารถยกขึ้นต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ และการที่นายชัยวัฒน์เรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 โดยยื่นคำร้องต่อจำเลย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 เป็นการใช้สิทธิเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่บัญญัติว่าโจทก์ต้องยกประเด็นเรื่องอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องไว้ตั้งแต่ในชั้นให้ถ้อยคำต่อพนักงานตรวจแรงงาน และไม่มีบทบัญญัติว่า หากโจทก์มิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความขึ้นกล่าวอ้างตั้งแต่ชั้นพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะทำให้โจทก์เสียสิทธิในการยกอายุความขึ้นต่อสู้ในชั้นนำคดีมาสู่ศาลและเมื่อนายชัยวัฒน์เรียกร้องค่าทำงานในวันหยุด เมื่อล่วงเลยกำหนด 2 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 แล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะนายจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 อันเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงาน อันเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) และการพิจารณาคดีแรงงานนั้นจะต้องอยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความ การพิจารณาคดีในศาลแรงงานและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้โดยเฉพาะแล้ว ซึ่งหาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู้ศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 แล้ว ในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้นไม่ และการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานอาจมีข้อบกพร่อง ซึ่งคู่ความอาจอ้างพยานหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 ให้แก่นายชัยวัฒน์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะนายชัยวัฒน์ยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อเรียกร้องเอาค่าทำงานในวันหยุดเมื่อล่วงเลยกำหนดอายุความ 2 ปีแล้ว ศาลแรงงานกลางจึงต้องพิจารณาให้ได้ความจริงว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าทำงานในวันหยุดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนายชัยวัฒน์ขาดอายุความหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวแต่เพียงว่าขณะที่ตัวแทนของโจทก์ไปชี้แจงกับจำเลยก็ไม่เคยชี้แจงว่าค่าทำงานในวันหยุดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวของนายชัยวัฒน์ขาดอายุความ แต่ในชั้นพิจารณาของศาลกลับนำข้อเท็จจริงที่ไม่เคยแจ้งต่อจำเลยมาเสนอต่อศาล เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จึงไม่อาจนำมาหักล้างคำสั่งของจำเลยได้ โดยศาลแรงงานกลางมิได้นำพยานหลักฐานใดที่โจทก์สืบเพิ่มเติมในประเด็นนี้ในชั้นพิจารณาคดีมาพิจารณาประกอบด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 อย่างไรก็ตาม แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดของนายชัยวัฒน์ ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 ขาดอายุความหรือไม่ แต่คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อน ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดอันเป็นค่าจ้างนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ให้มีกำหนดอายุความสองปี และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 (3) บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง ข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า วันที่ 5 กรกฎาคม 2547 นายชัยวัฒน์ได้ร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดที่นายชัยวัฒน์ได้ทำงานระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2546 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 รวม 6 วัน จึงเกินกว่ากำหนด 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้ และไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) แล้ว อุทธรณ์โจทก์สองประการนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 ที่ 43/2547 ลงวันที่ 3 กันยายน 2547 เฉพาะในส่วนที่สั่งให้โจทก์นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยในระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 จำนวน 6 วัน รวมเป็นเงิน 2,418.30 บาท ให้นายชัยวัฒน์ ลูกจ้าง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง