คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4070/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามสามยอดตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมายเลข 9 ท้ายฟ้อง ซึ่งมีข้อความสำคัญว่าส. ผู้แจ้งได้มาพบพนักงานสอบสวนแจ้งว่าผู้แจ้งประกอบอาชีพค้าขาย ฯลฯ และมาร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 โดยกล่าวหาว่า ฯลฯ เป็นเหตุให้ผู้แจ้งได้รับความเสียหาย ผู้แจ้งจึงได้มาร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 เมื่อข้อความในบันทึกคำร้องทุกข์ดังกล่าวระบุชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ส. โดยไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยดังนี้ต้องถือว่า ส. หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ได้ร้องทุกข์ในฐานะห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นผู้เสียหายในนามตนเองเมื่อคำร้องทุกข์ของ ส. ไม่ได้ระบุว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยและ ส. หุ้นส่วนผู้จัดการนิติบุคคลโจทก์ได้มาร้องทุกข์แทนโจทก์ กรณีจึงไม่อาจฟังได้ว่า ส.ได้กระทำแทนโจทก์และเมื่อคดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้โจทก์ผู้เสียหายฟ้องคดีเองโดยมิได้ร้องทุกข์ไว้โดยชอบภายในกำหนดเวลา 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม2536 จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยทนุ จำกัดสาขาลาดหลุมแก้ว จำนวน 3 ฉบับ ลงวันที่ 10, 16 และ 25กุมภาพันธ์ 2536 จำนวนเงิน 222,040 บาท 595,000 บาท และ640,000 บาท ตามลำดับเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ต่อมาเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่เรียกเก็บด้วยเหตุผลเหมือนกันทั้งสามฉบับว่า”โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองออกเช็คดังกล่าวโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือออกเช็คให้ใช้เงินที่มีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ เหตุเกิดที่ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ด้วย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด และเป็นผู้เสียหายนายไสว ชัยชนะกล หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์จึงมีอำนาจจัดการแทนโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(3)นายไสว ชัยชนะกล หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์จึงมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนโจทก์ได้ แม้คำร้องทุกข์ของนายไสวจะไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือนายไสวได้กระทำการแทนโจทก์ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามสามยอดตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมายเลข 9 ท้ายฟ้องแต่สาระในเอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความระบุว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือนายไสว ชัยชนะกล ผู้ร้องทุกข์กระทำแทนโจทก์แต่อย่างใด เป็นการร้องทุกข์โดยระบุว่านายไสวเป็นผู้เสียหายเองจึงเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายไสวได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมายเลข 9 ท้ายฟ้องมีข้อความสำคัญว่า นายไสว ชัยชนะกล ได้มาพบพนักงานสอบสวนแจ้งว่าผู้แจ้งประกอบอาชีพค้าขาย ฯลฯ และมาร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับนายสุเทพ ปิ่นเจริญ(จำเลยที่ 2) โดยกล่าวหาว่า ฯลฯ เป็นเหตุให้ผู้แจ้งได้รับความเสียหาย ผู้แจ้งจึงได้มาร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายสุเทพ ปิ่นเจริญ ข้อความในบันทึกคำร้องทุกข์ดังกล่าวระบุชัดเจนว่า การกระทำของจำเลยได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายไสว ชัยชนะกล ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย จึงต้องถือว่านายไสวได้ร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้เสียหายในนามตนเอง เมื่อคำร้องทุกข์ของนายไสวไม่ได้ระบุว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยและนายไสวหุ้นส่วนผู้จัดการนิติบุคคลโจทก์ได้มาร้องทุกข์แทนโจทก์ จึงไม่อาจฟังได้ว่านายไสวได้กระทำแทนโจทก์คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ผู้เสียหายฟ้องคดีเองโดยมิได้ร้องทุกข์ไว้โดยชอบภายในกำหนดเวลา 3 เดือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share