คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18929/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สุจริตโดยอ้างว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงที่มาแห่งสิทธิในการฟ้องคดีนี้อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงที่ทำให้โจทก์มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาอำนาจฟ้องและคำฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยได้ให้การโต้แย้งในเรื่องอำนาจฟ้องและคำฟ้องเคลือบคลุมไว้แล้ว แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยแถลงสละประเด็นข้อต่อสู้ดังกล่าว โดยกลับมาอุทธรณ์บ่ายเบี่ยงว่าเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สุจริตเท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยย่อมถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบรับขนของทางอากาศของจำเลย โดยตัวแทนผู้ส่งสินค้าไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง อันแสดงว่าผู้ส่งยอมรับเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าผู้ส่งตกลงโดยชัดแจ้งให้จำเลยจำกัดจำนวนเงินที่ต้องรับผิดไม่เกิน 17 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม ตามที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด ทั้งการจำกัดจำนวนเงินความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศเช่นนี้เป็นกรณีที่คู่สัญญาจะตกลงกัน ไม่ใช่กรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่ามีการตกลงกันโดยผู้ส่งตกลงยอมรับโดยชัดแจ้งหรือไม่ เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การไว้จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยประเด็นนี้มาเป็นการวินิจฉัยพยานหลักฐานนอกประเด็นโดยไม่ชอบ ไม่ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
เมื่อเครื่องบินของจำเลยมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและมีการขนถ่ายสินค้าลงจากเครื่องบินเพื่อนำเข้าเก็บในคลังสินค้าของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) พนักงานคลังสินค้าได้ตรวจพบความเสียหายของสินค้าก่อนนำเข้าเก็บในคลังสินค้า และได้ออกรายงานความเสียหายของสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งพร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ของจำเลยทราบแล้วในวันที่ตรวจพบความเสียหาย อันแสดงว่าจำเลยได้ทราบถึงความเสียหายตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว จึงหาจำเป็นที่จะต้องให้ผู้รับตราส่งแจ้งแก่จำเลยซ้ำอีกไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าวกับดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องด้วยรวมเป็นเงิน 125,453.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 118,146 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา จำเลยแถลงสละประเด็นข้อต่อสู้ตามคำให้การจำเลยฉบับลงวันที่ 6 กันยายน 2553 ทั้งหมด ซึ่งได้แก่ข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และยอมรับว่าสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายจริงตามคำฟ้องคงต่อสู้เฉพาะประเด็นตามที่จำเลยให้การในคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ที่ว่า ผู้รับตราส่งปฏิบัติผิดเงื่อนไขในใบรับขนของทางอากาศที่ต้องแจ้งถึงความเสียหายแก่จำเลยภายใน 14 วัน และจำเลยจะต้องรับผิดเกินกว่าเงื่อนไขในสัญญาหรือไม่เท่านั้น
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,247.74 ดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันที่ 19 สิงหาคม 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ในกรณีที่จำเลยจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราขายถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่จ่ายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราขายถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ถือว่าอัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยรับกันและไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ยุติว่า บริษัทไทยซัมซุงอิเลคโทรนิคส์ จำกัด ในประเทศไทยได้สั่งซื้อสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ขายในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ และบริษัทดังกล่าวได้มอบหมายให้ตัวแทนว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าทางอากาศจากท่าอากาศยานในประเทศดังกล่าวมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยบริษัทดังกล่าวได้เอาประกันภัยสินค้าในระหว่างการขนส่งไว้แก่โจทก์ และสินค้าได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่ง โดยสินค้า IC – DARLINGTON เสียหาย 9,600 ชิ้น และสินค้า IC – DRIVE เสียหาย 16,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 128,146 บาท ตามคำฟ้องของโจทก์จริง
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สุจริตโดยอ้างว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายคำฟ้องถึงที่มาแห่งสิทธิในการฟ้องคดีนี้อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ ทั้งโจทก์ยังไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงที่ทำให้โจทก์มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาอำนาจฟ้องและคำฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปรากฏว่าจำเลยได้ให้การโต้แย้งในเรื่องอำนาจฟ้องและคำฟ้องเคลือบคลุมไว้ตามคำให้การฉบับลงวันที่ 6 กันยายน 2553 แล้ว แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยแถลงสละประเด็นข้อต่อสู้ตามคำให้การดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยกลับมาอุทธรณ์บ่ายเบี่ยงว่าเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สุจริตเท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัยให้และในปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่อุทธรณ์เกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในส่วนจำนวนเงินที่ต้องรับผิดนั้น ตามคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบรับขนของทางอากาศของจำเลยโดยตัวแทนผู้ส่งสินค้าไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งอันแสดงว่าผู้ส่งยอมรับเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งที่ระบุไว้ในข้อ 10.1.1 ว่าในกรณีที่มีความเสียหายต่อสินค้าในทันทีหลังจากทราบความเสียหายและอย่างช้าที่สุดภายใน 14 วัน นับจากวันที่ได้รับสินค้าจะต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งทราบ แต่ผู้รับตราส่งไม่ได้แจ้งถึงความเสียหายดังกล่าวแก่จำเลยภายในกำหนดตามเงื่อนไขดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขความรับผิดของจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งนี้โดยจำเลยไม่ได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า ผู้ส่งตกลงโดยชัดแจ้งให้จำเลยจำกัดจำนวนเงินที่ต้องรับผิดไม่เกิน 17 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม ตามที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด ทั้งการจำกัดจำนวนเงินความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศเช่นนี้เป็นกรณีที่คู่สัญญาจะตกลงกัน ไม่ใช่กรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่ามีการตกลงกันโดยผู้ส่งตกลงยอมรับโดยชัดแจ้งหรือไม่ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การไว้จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในข้อเท็จจริงนี้แต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยประเด็นนี้มาเป็นการวินิจฉัยพยานหลักฐานนอกประเด็นโดยไม่ชอบ จึงไม่ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้น จึงไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า มีการแจ้งถึงความเสียหายของสินค้าภายใน 14 วัน นับจากวันรับสินค้า ตามเงื่อนไขในใบรับขนของทางอากาศของจำเลยหรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่อุทธรณ์รับฟังได้ยุติว่า เมื่อเครื่องบินของจำเลยมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและมีการขนถ่ายสินค้าลงจากเครื่องบิน เพื่อนำเข้าเก็บในคลังสินค้าของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) นายภูริต พนักงานคลังสินค้าดังกล่าวตรวจพบความเสียหายของสินค้าก่อนนำเข้าเก็บในคลังสินค้า และได้ออกรายงานความเสียหายของสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่ง และผู้ตรวจพบความเสียหายดังกล่าวได้แจ้งเจ้าหน้าที่ของจำเลยทราบแล้วในวันที่ตรวจพบความเสียหาย อันแสดงว่าจำเลยได้ทราบถึงความเสียหายตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว ทั้งตามเงื่อนไขในใบรับขนของทางอากาศข้อ 10.1.1 ที่จำเลยกล่าวอ้างที่ว่าต้องมีการแจ้งถึงความเสียหายของสินค้าทันทีหรืออย่างช้าภายใน 14 วัน นับแต่วันรับสินค้า นั้น ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้เป็นปกติธรรมดาว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ให้จำเลยได้ทราบถึงความเสียหายของสินค้าเร็วที่สุดเป็นสำคัญ และเมื่อจำเลยได้ทราบแล้วไม่ว่าจะได้รับแจ้งจากผู้ใด ก็หาได้มีผลกลับกลายเป็นว่าจำเลยยังไม่ทราบอีกแต่อย่างใด จึงหาจำเป็นที่จะต้องให้ผู้รับตราส่งแจ้งแก่จำเลยซ้ำอีกที่จำเลยอ้างว่า ตามเงื่อนไขข้อ 10.1.1 นี้ เป็นกรณีต้องให้ผู้รับตราส่งหรือผู้เอาประกันภัยเท่านั้นเป็นผู้แจ้งแก่จำเลยย่อมเป็นข้ออ้างที่ไร้เหตุผลให้ฟังเช่นนั้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิจำกัดจำนวนเงินความรับผิดได้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นโดยไม่ชอบ จำเลยย่อมไม่อาจจำกัดจำนวนความรับผิดได้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยรับว่าสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายตามฟ้องจริง ดังนั้น เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของสินค้าแก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ในจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปตามความเสียหายที่แท้จริง โดยหักค่าขายซากออกแล้วเป็นเงินจำนวน 118,146 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปอีกแต่อย่างใด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 125,453.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 118,146 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คือเฉพาะในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท

Share