คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ทนายโจทก์ละเลยไม่ติดตามรับทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในคำร้องของโจกท์ให้โจทก์คัดรับรองทะเบียนบ้านจำเลยเสนอศาลก่อนก็ตามแต่ฟ้องของโจทก์ได้ระบุที่อยู่ของจำเลยผิดไปเฉพาะเขตคือระบุว่า”เขตบางเขน”เท่านั้นทั้งๆที่สำเนาทะเบียนบ้านจำเลยท้ายฟ้องก็ระบุว่า”เขตดอนเมือง”ซึ่งโจทก์ก็ได้ยื่นคำแถลงขอปิดหมายณภูมิลำเนาของจำเลยตามสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุภูมิลำเนาของจำเลยที่ระบุเป็น”เขตดอนเมือง”ในท้ายคำแถลงนั้นด้วยพฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าโจทก์คงเข้าใจว่าเมื่อสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยระบุภูมิลำเนาของจำเลยถูกต้องตามคำแถลงแล้วศาลคงสั่งให้ปิดหมายณภูมิลำเนาของจำเลยดังกล่าวนั้นทนายโจทก์จึงเข้าใจสับสนในคำสั่งของศาลที่ให้คัดรับรองทะเบียนบ้านจำเลยเสนอต่อศาลอีกครั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงยังไม่พอรับฟังได้ว่าโจทก์จงใจทิ้งฟ้อง

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานส่วนตัวและทายาทนายอำพล กลิ่นขจร ผู้ตาย ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยหากไม่สามารถชำระได้ ขอให้มีคำสั่งยึดทรัพย์สินของจำเลยและนายอำพลซึ่งจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ขอให้มีคำสั่งยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยและกองมรดกของนายอำพลออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำฟ้อง หมายส่งสำเนาให้จำเลยให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลง ให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง
วันที่ 3 ตุลาคม 2538 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่โจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นขอปิดหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันนั้นว่าฟ้องโจทก์ระบุว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่เขตบางเขน แต่ตามรายงานทะเบียนราษฎร์ปรากฎว่าอยู่เขตดอนเมือง ชั้นนี้จึงให้โจทก์ส่งมอบโดยวิธีธรรมดาก่อน ต่อมาเจ้าพนักงานเดินหมายรายงานผลการส่งหมายว่าส่งหมายให้จำเลยไม่ได้เนื่องจากไม่พบจำเลยไม่ทราบว่าจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้รับรายงานเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2538 แล้วมีคำสั่งให้โจทก์แถลงภายในเวลาที่สั่งในคำฟ้องไม่แถลงภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2538 ถือว่าทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับที่อยู่ของจำเลยและขอปิดหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องตามขอ สำเนาให้จำเลยจากรายงานการเดินหมายลงวันที่ 24 ตุลาคม 2538 ฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาตามฟ้อง หาจะให้ถือตามภูมิลำเนาที่ปรากฎอยู่ในทะเบียนราษฎร์ท้ายคำแถลงของโจทก์ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2538 ซึ่งคัดมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 ก็เกินกว่า 1 เดือนแล้ว ให้โจทก์คัดรับรอทะเบียนบ้านจำเลยเสนอมาก่อน จึงจะพิจารณาสั่งเรื่องการส่งหมายต่อไปภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ ไม่แถลงภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2538ถือว่าทิ้งฟ้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไปได้เมื่อครบกำหนดและได้ประทับตรายางมีข้อความว่า ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 14พฤศจิกายน 2538 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว
ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2538 ศาลชั้นต้นบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณามีใจความว่า ตรวจสำนวนวันนี้พบว่า โจทก์มิได้คัดรับรองทะเบียนบ้านจำเลยเสนอต่อศาลภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน2538 ตามที่สั่งไว้ในคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538จึงมีผลให้ถือว่า โจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบได้นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2538
วันที่ 20 ธันวาคม 2538 โจทก์ยื่นคำร้อง อ้างว่าโจทก์มิได้มีเจตนาเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีอันจะเป็นการทิ้งฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่าคดีนี้เคยส่งหมายธรรมดาแล้วเหตุที่แถลงมาจึงฟังไม่ขึ้น คำสั่งเดิมชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) แล้วไม่มีเหตุสมควรให้เพิกถอน ยกคำร้อง
ร้อง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฏีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ทิ้งฟ้องอันเป็นเหตุให้ต้องจำหน่ายคดีโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าทนายโจทก์ยังไม่ทราบคำสั่งศาลที่ได้สั่งในคำร้องฉบับลงวันที่8 พฤศจิกายน 2538 ที่ให้โจทก์คัดรับรองทะเบียนบ้านจำเลยเสนอศาลก่อนศาลจึงจะพิจารณาสั่งเรื่องการส่งหมายต่อไปนั้น เพราะแม้มีผู้ลงลายมือชื่อในตรายางที่่ให้มาทราบคำสั่งศาลในวันที่ 14 พฤศจิกายน2538 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วนั้นก็ตาม ลายมือชื่อดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของทนายโจทก์ คำสั่งของศาลล่างทั้งสองที่ว่าโจทก์จงใจทิ้งฟ้องแล้วมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์จึงไม่ชอบ เห็นว่าแม้ทนายโจทก์ได้ละเลยไม่ติดตามรับทราบคำสั่งของศาลที่สั่งในคำร้องฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 ก็ตาม แต่เนื่องจากฟ้องของโจทก์ได้ระบุที่อยู่ของจำเลยผิดไปเฉพาะเขตคือระบุว่า “เขตบางเขน”เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ สำเนาทะเบียนบ้านจำเลยท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข11 ก็ระบุว่า “เขตดอนเมือง” ซึ่งโจทก์ก็ได้ยื่นคำแถลงขอปิดหมายณ ภูมิลำเนาของจำเลยตามสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุภูมิลำเนาของจำเลยที่ระบุเป็น “เขตดอนเมือง” ในท้ายคำแถลงนั้นด้วย พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าโจทก์คงเข้าใจว่า เมื่อสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยระบุภูมิลำเนาของจำเลยถูกต้องตามคำแถลงแล้ว ศาลคงสั่งให้ปิดหมายณ ภูมิลำเนาของจำเลยดังกล่าวนั้น ทนายโจทก์จึงเข้าใจสับสนในคำสั่งของศาลที่ให้คัดรับรองทะเบียนบ้านจำเลยเสนอต่อศาลอีกครั้งนั้นตามพฤติการณ์แห่งคดี จึงยังไม่พอรับฟังได้ว่าโจทก์จงใจทิ้งฟ้องที่ศาลล่างทิ้งสองฟังว่าโจทก์จงใจทิ้งฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่นับตั้งแต่การสั่งให้โจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตามทะเบียนบ้านท้ายคำแถลงขอปิดหมายฉบับลงวันที่3 ตุลาคม 2538 นั้น

Share