คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สาเหตุที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการพนักงานสำหรับฝ่ายขาย พ.ศ.2541 ข้อ 37.2 กำหนดว่า จำเลยที่ 1 อาจมีความจำเป็นต้องให้พนักงานออกจากงานในกรณีที่พนักงานมีหนี้สินรุงรัง และจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายได้ บุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต้องเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น โจทก์ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีหนี้สินรุงรังตามความหมายของระเบียบดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ทำหน้าที่ตัวแทนประกันชีวิตซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจของผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลที่จะเข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็จะส่งผลให้บุคคลดังกล่าวไม่เชื่อถือในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไปด้วย การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควรแล้ว มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ข้อที่โจทก์อ้างว่ามูลหนี้ที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายเป็นมูลหนี้ที่ ส. และโจทก์ ผิดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร ก. ซึ่งต่อมาธนาคารได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ซึ่งมีกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวอันแสดงว่าจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์มีหนี้สินอยู่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะรับโจทก์เข้าทำงานนั้น เมื่อธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ต่างเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์มีหนี้สินขณะจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน และข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ยกเว้นไม่นำกรณีที่โจทก์มีหนี้สินรุงรังมาเป็นเหตุเลิกจ้างนั้น ก็เป็นความเข้าใจของโจทก์ฝ่ายเดียว
ข้อที่โจทก์อ้างว่าระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการพนักงานสำหรับฝ่ายขาย พ.ศ.2541 ข้อ 37.2 วางเกณฑ์ไว้สูงกว่าคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ที่กำหนดเอาไว้ว่าต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้วโจทก์ยังมีคุณสมบัติเป็นตัวแทนประกันชีวิต ระเบียบดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์นั้น เมื่อระเบียบดังกล่าวใช้กับพนักงานของจำเลยที่ 1 ทุกคน ไม่ได้เลือกบังคับใช้เฉพาะโจทก์ เงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 จะเลิกจ้างลูกจ้างตามระเบียบดังกล่าวเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมใช้บังคับได้ และขณะที่ถูกเลิกจ้างโจทก์ก็ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โจทก์จะอ้างว่าระเบียบดังกล่าวไม่เป็นธรรมย่อมไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าจ้าง ผลประโยชน์และผลตอบแทนจำนวน 10 ปี เป็นเงิน 9,742,464.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และผลประโยชน์เบี้ยประกันภัยที่ชำระผ่านระบบ เอ.พี.พี. จำนวน 10 ปี เป็นเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงว่าไม่ประสงค์จะกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมอีกและขอถอนฟ้องด้วยวาจาเฉพาะคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 5 ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารและเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้บริหารฝ่ายกิจการตัวแทน จำเลยที่ 4 เป็นผู้บริหารฝ่ายการพนักงาน และจำเลยที่ 5 เป็นผู้บริหารฝ่ายกฎหมาย จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำ ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ขยายงานพิเศษ ฝ่ายสะสมเงินเดือน 17 โจทก์ทำงานจนครบเกษียณเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2548 แล้วจำเลยที่ 1 ต่ออายุสัญญาจ้างปีต่อปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 จำนวน 4 ครั้ง จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ถือไม่ได้ว่าเป็นนายจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์เรียกร้องมาแปลได้ว่าเป็นการเรียกร้องเงินหรือประโยชน์ที่เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ให้โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างต่อไป เท่ากับอ้างว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการเลิกจ้างดังกล่าว เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์ถูกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อันถือว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวและถือว่ามีหนี้สินรุงรังตามระเบียบว่าด้วยการพนักงานสำหรับฝ่ายขาย พ.ศ.2541 ข้อ 37.2 โดยเลิกจ้างเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 ซึ่งเป็นเหตุอันสมควรและเพียงพอแล้วจึงไม่เกิดความเสียหายต่อโจทก์ ส่วนสิทธิประโยชน์และผลตอบแทนที่เป็นเบี้ยประกันภัยที่ชำระผ่านระบบ เอ.พี.พี. ไม่ใช่สิทธิที่จะมาเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงาน สิทธิประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นธรรมแล้ว จึงมีผลทำให้พ้นจากการเป็นลูกจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของกองทุนที่จะดำเนินการให้พ้นสมาชิกภาพมิใช่เรื่องของจำเลยที่ 1 ส่วนสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทุนดังกล่าว มิใช่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิด สำหรับค่าธรรมเนียมที่กรมบังคับคดีเรียกเก็บเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์เรียกร้องมาก็เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดให้โจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ต้องชำระ ดังนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการพนักงานสำหรับฝ่ายขาย พ.ศ.2541 หมวดที่ 6 การพ้นสภาพการเป็นพนักงานและการเลิกจ้าง ข้อ 37 กำหนดว่า “บริษัทอาจมีความจำเป็นต้องให้พนักงานออกจากงาน ในกรณีดังต่อไปนี้ … 37.2 หากพนักงาน … หรือมีความประพฤติไม่เหมาะสมหรือมีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจแต่ไม่ถึงกับมีความผิด หรือมีหนี้สินรุงรัง มีมลทินมัวหมอง หรือกระทำสิ่งที่ไม่สมควร… บริษัทมีสิทธิจะเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายได้” การที่บุคคลใดถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต้องเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้นโจทก์ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีหนี้สินรุงรังตามความหมายของระเบียบของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ทำหน้าที่ตัวแทนประกันชีวิตซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจของผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลที่จะเข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็จะส่งผลให้บุคคลดังกล่าวไม่เชื่อถือในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไปด้วย จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า มูลหนี้ที่โจทก์ถูกฟ้องล้มละลายเป็นมูลหนี้ที่นายสุรศักดิ์และโจทก์ผิดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาธนาคารได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพทาย จำกัด นางสุจิตพรรณ กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพทาย จำกัด และเป็นกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แสดงว่าจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าโจทก์มีหนี้สินอยู่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะรับโจทก์เข้าทำงานด้วย อันถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอาหนี้สินรุงรังของโจทก์มาเป็นเหตุในการเลิกจ้างโจทก์ต่อไปนั้น เห็นว่า ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทบริหารสินทรัพย์เพทาย จำกัด และบริษัทจำเลยที่ 1 ต่างเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จึงถือไม่ได้ว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์มีหนี้สินขณะจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงาน ทั้งข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 1 ยกเว้นไม่นำกรณีโจทก์มีหนี้สินรุงรังมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ ก็เป็นความเข้าใจของโจทก์ฝ่ายเดียว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ระเบียบว่าด้วยการพนักงานสำหรับฝ่ายขาย พ.ศ.2541 ข้อ 37.2 ที่ให้จำเลยที่ 1 เลิกจ้างลูกจ้างได้กรณีลูกจ้างมีหนี้สินรุงรังเป็นระเบียบที่วางเกณฑ์ไว้สูงกว่าคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ที่บัญญัติไว้ว่าต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้วโจทก์ยังมีคุณสมบัติเป็นตัวแทนประกันชีวิต ระเบียบของจำเลยที่ 1 ที่นำมาอ้างเลิกจ้างโจทก์ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ระเบียบว่าด้วยการพนักงานสำหรับฝ่ายขาย พ.ศ.2541 ใช้กับพนักงานของจำเลยที่ 1 ทุกคนไม่ได้เลือกบังคับใช้เฉพาะโจทก์ ส่วนเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 จะเลิกจ้างลูกจ้างตามระเบียบดังกล่าว เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมใช้บังคับได้และขณะที่ถูกเลิกจ้างโจทก์ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเช่นนี้ โจทก์จะมาอ้างว่าระเบียบของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นธรรมย่อมไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับอุทธรณ์ข้อปลีกย่อยอื่น ๆ ของโจทก์ไม่เป็นสาระแก่คดี เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share