แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยขับรถยนต์กระบะชนรถจักรยานยนต์สายตรวจที่จอดขวางอยู่ก็เพื่อต้องการเปิดทางหลบหนีการจับกุม ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้ผู้เสียหายที่ 3 ที่ยืนอยู่บริเวณที่รถจักรยานยนต์ดังกล่าวจอดได้รับบาดเจ็บได้ จึงมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 เมื่อผลการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 3 คงมีอาการปวดแก้มก้น 2 ข้าง และปวดขาข้างขวาถึงเท้า รักษาให้หายภายใน 7 วัน หากไม่มีโรคแทรกซ้อนตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ซึ่งอาการดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 391 และความผิดดังกล่าวก็เป็นความผิดอย่างหนึ่งที่รวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามฟ้องซึ่งมีโทษเบากว่า ศาลย่อมลงโทษความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91, 92, 278, 289, 358, 362, 364, 365 ริบของกลาง นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3832/2544 ของศาลจังหวัดนนทบุรี และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อและขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 365 (3) ประกอบมาตรา 364, 358, 289 (2) ประกอบมาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 1 ปี ฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน จำคุก 1 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 6 เดือน และฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (1) เพิ่มโทษกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนเป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นจำคุก 8 เดือน แต่สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เมื่อศาลวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานนี้ได้อีก ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยสำหรับความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย ฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนและฐานทำให้เสียทรัพย์กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกสำหรับความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย 10 เดือน 20 วัน ฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน 10 เดือน 20 วัน ฐานทำให้เสียทรัพย์ 5 เดือน 10 วัน และฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 30 เดือน 20 วัน นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3832/2544 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 2 ปี ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 6 เดือน ความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนกับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษในแต่ละกระทงหนึ่งในสาม ความผิดฐานพยายามทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำคุก 2 ปี 8 เดือน ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 8 เดือน ความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนจำคุก 1 ปี 4 เดือน ลดโทษให้ในแต่ละกระทงหนึ่งในสามแล้ว ความผิดฐานพยายามทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน 10 วัน ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย คงจำคุก 5 เดือน 10 วัน และความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน คงจำคุก 10 เดือน 20 วัน รวมจำคุก 1 ปี 25 เดือน 10 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 3 ที่มาเป็นพยานโจทก์ว่า ขณะที่ผู้เสียหายที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์จอดตรงจุดเส้นกึ่งกลางถนนนวลจันทร์ ผู้เสียหายที่ 3 ยืนคร่อมรถจักรยานยนต์สายตรวจอยู่และใช้ไฟฉายทำสัญญาณกวักขึ้นลงเพื่อให้หยุดรถ แต่คนร้ายไม่ยอมหยุดรถ เมื่ออยู่ห่างประมาณ 10 เมตร ผู้เสียหายที่ 3 กระโดดหลบ จึงชนรถจักรยานยนต์สายตรวจ แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 3 ให้การในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การกลับระบุว่า ผู้เสียหายที่ 3 ยืนอยู่ มิได้ยืนคร่อมรถจักรยานยนต์ดังที่เบิกความแต่อย่างใดอันเป็นการแตกต่างกัน ทั้งสิบตำรวจตรีบรรดล พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งมากับผู้เสียหายที่ 3 เบิกความว่า หลังจากที่พยานวิ่งไล่ตามรถยนต์กระบะของคนร้ายไป พยานได้ยินเสียงรถชนกัน เมื่อไปถึงถนนนวลจันทร์พยานเห็นรถจักรยานยนต์สายตรวจและผู้เสียหายล้มลง แสดงว่าพยานปากนี้ไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่รถชนกันย่อมไม่ทราบว่าก่อนที่รถจะชนกันนั้น ผู้เสียหายที่ 3 ยืนคร่อมรถจักรยานยนต์สายตรวจหรือยืนอยู่โดยไม่ได้คร่อมรถจักรยานยนต์สายตรวจ และไม่ปรากฏจากคำเบิกความของพันตำรวจโทภคพงศ์ พยานโจทก์ด้วยว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้ให้การหรือบอกพยานว่าก่อนที่รถจะชนกันผู้เสียหายที่ 3 ยืนคร่อมรถจักรยานยนต์สายตรวจแต่อย่างใดด้วย ดังนั้นย่อมยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ก่อนที่รถจะชนกันผู้เสียหายที่ 3 ยืนคร่อมรถจักรยานยนต์สายตรวจตามที่ผู้เสียหายที่ 3 เบิกความ จึงต้องรับฟังตามคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 3 ว่า ผู้เสียหายที่ 3 ยืนอยู่บริเวณที่รถจักรยานยนต์สายตรวจจอดอยู่กลางถนน และเมื่อพิจารณาถึงการที่จำเลยขับรถยนต์กระบะชนรถจักรยานยนต์สายตรวจ แม้ผู้เสียหายที่ 3 เบิกความว่า คนร้ายคือจำเลยขับรถยนต์กระบะด้วยความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรถจักรยานยนต์สายตรวจกระเด็นไปไกลถึง 15 เมตร แต่ไม่ปรากฏในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ว่ามีการระบุจุดรถจักรยานยนต์สายตรวจล้มลงหลังถูกชนว่าอยู่บริเวณใด ที่จะบ่งชี้ว่าอยู่ห่างจากจุดที่ผู้เสียหายที่ 3 จอดรถจักรยานยนต์สายตรวจขวางถนนประมาณ 15 เมตร ตามที่ผู้เสียหายที่ 3 เบิกความ ทั้งสิบตำรวจตรีบรรดล ก็เบิกความว่าพยานเห็นผู้เสียหายที่ 3 ล้มลงอยู่ห่างจากรถจักรยานยนต์สายตรวจที่ล้มลงประมาณ 1 เมตร และผู้เสียหายที่ 3 ยังเบิกความว่า ผู้เสียหายที่ 3 กระเด็นตกจากรถจักรยานยนต์สายตรวจห่างจากจุดที่ยืนคร่อมรถจักรยานยนต์สายตรวจ แสดงว่าผู้เสียหายที่ 3 ล้มลงห่างจากจุดที่ผู้เสียหายที่ 3 จอดรถจักรยานยนต์ (จุดที่ผู้เสียหายที่ 3 จอดรถจักรยานยนต์ขวางถนนอยู่) ประมาณ 1 เมตร และห่างจากจุดที่รถจักรยานยนต์ที่ถูกชนล้มลงประมาณ 1 เมตร อันเป็นการบ่งชี้ว่า หลังจากรถจักรยานยนต์ถูกชนแล้วล้มลงจะอยู่ห่างจากจุดที่ผู้เสียหายที่ 3 จอดรถจักรยานยนต์สายตรวจขวางถนนอยู่ไม่น่าเกินกว่า 2 เมตร จึงเป็นการชนไม่รุนแรงนัก ดังนั้นที่ผู้เสียหายที่ 3 อ้างว่าจำเลยขับรถยนต์กระบะด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วชนรถจักรยานยนต์สายตรวจกระเด็นไปไกลประมาณ 15 เมตร อันเป็นการชนอย่างรุนแรงจึงไม่อาจรับฟังได้ เมื่อเป็นการชนไม่รุนแรง และจำเลยก็หาได้ขับรถยนต์กระบะกลับมาชนผู้เสียหายที่ 3 ขณะล้มลงอีกไม่ จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 3 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการที่จำเลยขับรถยนต์กระบะชนรถจักรยานยนต์สายตรวจที่จอดขวางอยู่ก็เพื่อต้องการเปิดทางหลบหนีการจับกุมนั่นเองดังที่ผู้เสียหายที่ 3 ให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การ ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้ผู้เสียหายที่ 3 ที่ยืนอยู่บริเวณที่รถจักรยานยนต์ดังกล่าวจอดได้รับบาดเจ็บได้ จึงมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 เมื่อผลการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 3 คงมีอาการปวดแก้มก้น 2 ข้าง และปวดขาข้างขวาถึงเท้า รักษาให้หายภายใน 7 วัน หากไม่มีโรคแทรกซ้อนตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ซึ่งอาการดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เท่านั้น หาใช่เป็นการพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ และความผิดดังกล่าวก็เป็นความผิดอย่างหนึ่งที่รวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามฟ้องซึ่งมีโทษเบากว่า ศาลย่อมลงโทษความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 แต่เพิ่มโทษไม่ได้เนื่องจากเป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 94 ให้จำคุก 1 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 20 วัน เมื่อรวมโทษจำคุกฐานกระทำอนาจารและฐานบุกรุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นจำคุก 16 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์