แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขออ้างพยานเอกสารเพิ่มเติม บัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วอนุญาตและสั่งให้จำเลยที่ 2 สำเนาให้แก่โจทก์ด้วยแล้ว เมื่อต้นฉบับเอกสารเป็นเอกสารซึ่งอยู่ในครอบครองของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทอง จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2)
การที่จำเลยที่ 2 ไม่ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับเอกสารไว้ก่อนนั้น เมื่อปรากฏว่าเอกสารทั้งสามฉบับนี้เป็นเอกสารที่ตัวโจทก์ได้ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทอง ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ไปขอคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวมายื่นแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ลายมือชื่อของโจทก์เท่านั้น ทั้งเรื่องการจำนองที่ดินพิพาทแล้วมีการไถ่ถอนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 ก็มีหลักฐานปรากฏอยู่ในสารบัญจดทะเบียนหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่ถามค้านพยานโจทก์ไว้ก่อนถึงเอกสารดังกล่าว ก็สามารถรับฟังเอกสารทั้งสามฉบับดังกล่าวได้ว่ามีอยู่จริงที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ และเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใส่ชื่อโจทก์ในเอกสารสิทธิ หากจำเลยทั้งสองไม่ไปจดทะเบียนให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2723 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวมีรายการจดทะเบียนดังนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2539 โจทก์จดทะเบียนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากมีกำหนด 3 เดือน ให้แก่จำเลยที่ 2
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในการทำสัญญาขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงให้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจมอบให้จำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2539 เพื่อร่วมลงทุนในการทำโรงงานเหล้าจากลำไย เมื่อเวลาผ่านไปนานแล้วจำเลยที่ 1 ไม่นำหลักฐานการร่วมลงทุนมามอบให้ โจทก์จึงไปตรวจสอบหลักฐานที่สำนักงานที่ดิน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ปลอมลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.7 ซึ่งรวมถึงสัญญาขายที่ดิน และจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนที่จำเลยที่ 2 มีนางรมย์ชลีเจ้าหน้าที่ที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทอง ในขณะเกิดเหตุ ซึ่งทำหน้าที่รับคำร้องขอสอบสวนงานทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเบิกความเป็นประจักษ์พยานว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2539 โจทก์และจำเลยที่ 1 มาติดต่อที่สำนักงานที่ดินเพื่อยื่นคำขอไถ่ถอนจำนองและทำสัญญาซื้อขายที่ดิน โดยโจทก์แจ้งพยานว่าขอไถ่ถอนจำนองก่อนจากนั้นทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 พยานรับคำขอตรวจสอบหลักฐานกับสารบบของสำนักงานที่ดิน ตรวจสอบสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และราคาประเมินแล้วเสนอต่อผู้บังคับบัญชาโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้มาดำเนินการและลงชื่อในเอกสารด้วยตนเองต่อหน้าพยาน โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทนแต่อย่างใด พยานจำเลยที่ 2 ปากนี้เป็นข้าราชการไม่มีส่วนได้เสียกับโจทก์หรือจำเลยทั้งสอง ถือเป็นพยานคนกลางมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ในการตรวจสอบหลักฐาน พยานจำเลยที่ 2 ปากนี้ได้ตรวจสอบกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งมีรูปถ่ายของโจทก์อยู่ด้วย หากผู้ที่ไปดำเนินการไม่ใช่โจทก์แล้ว พยานย่อมจะต้องทราบและไม่ดำเนินการให้ทั้งในวันที่มีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวนั้น ได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองด้วย ผู้ที่จำต้องไถ่ถอนจำนองก็คือโจทก์ซึ่งเป็นผู้จำนองไว้หาใช่จำเลยที่ 1 ไม่ นอกจากนี้ที่โจทก์เบิกความว่าได้มอบเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. ที่ดินพิพาท สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านและลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจตามแบบของกรมที่ดินมอบให้จำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2539 นั้น ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ว่าโจทก์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทให้แก่นายไพโรจน์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2537 และได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองในวันที่ 7 พฤษภาคม 2539 ดังนั้น ในวันที่ 6 เมษายน 2539 จึงยังอยู่ระหว่างจำนองอยู่ ซึ่งตามปกติประเพณีทั่วไปผู้รับจำนองจะเป็นผู้ยึดถือเอกสารสิทธิต้นฉบับไว้เป็นประกันจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ ดังนั้นที่โจทก์เบิกความว่าได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และหลักฐานต่าง ๆ ให้แก่จำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2539 นั้น จึงเป็นพิรุธน่าสงสัย อีกประการหนึ่งเมื่อโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในการทำสัญญาซื้อขาย แต่โจทก์ก็มิได้ร้องขอให้มีการส่งลายมือชื่อโจทก์ในสัญญาซื้อขายและในหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปตรวจพิสูจน์ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสมบูรณ์ ที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่ามีเพียงสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 2 จะอ้างการได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ไม่ได้นั้น ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และพวกหลอกลวงโจทก์ปลอมลายมือชื่อโจทก์นำที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขายให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำไปขายฝากต่อแก่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะและเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นว่าใครเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน เมื่อข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานฟังได้ว่า ลายมือชื่อโจทก์ในสัญญาซื้อขายที่ดินให้กับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ใช่ลายมือปลอม สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสมบูรณ์ ไม่มีเหตุให้เพิกถอนรวมทั้งสัญญาขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกว่าจำเลยที่ 2 อ้างส่งเอกสารเพิ่มเติมหมาย ล.13 ถึง ล.15 โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม และสำเนาเอกสารให้โจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคสอง นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขออ้างพยานเอกสารเพิ่มเติม บัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วอนุญาตและสั่งให้จำเลยที่ 2 สำเนาให้แก่โจทก์ด้วยแล้ว เมื่อต้นฉบับเอกสาร ล.13 ถึง ล.15 เป็นเอกสารซึ่งอยู่ในครอบครองของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทอง จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 (2) และที่โจทก์ฎีกาอีกว่า จำเลยที่ 2 ไม่ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับเอกสารหมาย ล.13 ถึง ล.15 ไว้ก่อน จำเลยที่ 2 จึงนำสืบไม่ได้นั้น เห็นว่า เอกสารทั้งสามฉบับนี้เป็นเอกสารที่ตัวโจทก์ได้ทำยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทอง ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ไปขอคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวมายื่นแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ลายมือชื่อของโจทก์เท่านั้น ทั้งเรื่องการจำนองที่ดินพิพาทแล้วมีการไถ่ถอนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 ก็มีหลักฐานปรากฏอยู่ในสารบัญจดทะเบียนหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่ถามค้านพยานโจทก์ไว้ก่อนถึงเอกสารหมาย ล.13 ถึง ล.15 ก็สามารถรับฟังเอกสารทั้งสามฉบับดังกล่าวได้ว่ามีอยู่จริงที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทอง ส่วนฎีกาของโจทก์นอกนั้นเป็นข้อปลีกย่อยไม่อาจทำให้ผลการวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้โจทก์แพ้คดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน