คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5146/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามระเบียบข้อบังคับจำเลยอาจออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งหกไปทำงานนอกสถานที่ได้ จำเลยจึงออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งหกไปทำงานที่บริษัท อ. ได้ ส่วนในการไปทำงานที่บริษัทดังกล่าวของโจทก์ทั้งหกต้องเดินทางออกจากที่อ้อมน้อยเวลา 6 นาฬิกาและขากลับถึงที่อ้อมน้อยเวลา 19 นาฬิกานั้น เป็นเรื่องของเวลาเดินทางกรณีจะถือเอาเวลาเดินทางไปทำงานมารวมเป็นเวลาทำงานหาได้ไม่จึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งของจำเลยขัดต่อเวลาทำงาน ตามที่จำเลยกับโจทก์ทั้งหกตกลงให้เข้าทำงานเวลา 8.30 นาฬิกา และเลิกงานเวลา 17.30 นาฬิกา คำสั่งของจำเลยชอบด้วยระเบียบข้อบังคับและกฎหมายแล้ว การที่โจทก์ทั้งหกปฏิเสธไม่ไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 โจทก์ทั้งหกไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แม้การที่โจทก์ทั้งหกปฏิเสธไม่ไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย แต่กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายและลำพังเหตุที่โจทก์ทั้งหกปฏิเสธไม่ไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยก็ไม่ใช่กรณีร้ายแรงยังไม่อาจทำให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือแล้วด้วยจึงจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์เรียกตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 6
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างจำเลย มีหน้าที่ประกอบโครงโซฟา จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยโจทก์ทั้งหกไม่มีความผิดและจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 12,420 บาท 12,600 บาท 12,420 บาท25,920บาท 4,050 บาท 12,960 บาท และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,760 บาท 2,800 บาท 2,760 บาท 2,880 บาท 2,700 บาท2,800 บาท แก่โจทก์ทั้งหกตามลำดับ
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกเพราะจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งหกไปปฏิบัติงานที่บริษัทเอ ซี ที เครื่องหนัง (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม2538 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 โดยจำเลยจะจัดรถรับส่งให้แต่โจทก์ทั้งหกไม่ยอมไป จำเลยได้ออกหนังสือตักเตือนแล้วโจทก์ทั้งหกคงไม่ยอมไปจนเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2538 เวลส 13 นาฬิกาจึงยอมไปปฏิบัติงานตามคำสั่ง ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538ก็ไม่ยอมไปปฏิบัติงานตามคำสั่งอีก วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2538โจทก์ทั้งหกนั่งอยู่ที่โรงอาหารของจำเลยจนเวลาประมาณ 9 นาฬิกาจึงเดินทางไปปฏิบัติงานที่บริษัท เอ ซี ที เครื่องหนัง(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเดินทางถึงบริษัทดังกล่าวเวลาประมาณ12 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2538 บริษัทดังกล่าวไม่ยอมรับโจทก์ทั้งหกเข้าปฏิบัติงาน เพราะการหยุดงานของโจทก์ทั้งหกทำให้เกิดความเสียหายการกระทำของโจทก์ทั้งหกเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยละทิ้งการงาน กระทำเป็นปรปักษ์ต่อจำเลย และประพฤติไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 12,420 บาท 12,600 บาท 12,420 บาท 25,920 บาท 4,050 บาท12,960 บาท และชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,760 บาท2,800 บาท 2,760 บาท 2,880 บาท 2,700 บาท 2,800 บาทแก่โจทก์ทั้งหกตามลำดับ
จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ในข้อแรกว่าการที่จำเลยออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งหกไปทำงานนอกสถานที่ไม่ขัดต่อเวลาทำงาน เพราะการที่โจทก์ทั้งหกต้องเดินทางออกจากที่อ้อมน้อยเวลา 6 นาฬิกา และขากลับถึงที่อ้อมน้อยเวลา 19 นาฬิกา นั้นไม่ใช่เวลาทำงาน ไม่มีกฎหมายบังคับให้ถือเวลาเดินทางไปทำงานเป็นเวลาทำงาน เมื่อโจทก์ทั้งหกปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานตามคำสั่งของจำเลย จึงเป็นการขัดคำสั่ง ฝ่าฝืนระเบียบและทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยได้ตักเตือนโจทก์ทั้งหกเป็นหนังสือแล้วแต่โจทก์ทั้งหกกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งหก เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าตามระเบียบข้อบังคับจำเลยอาจออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งหกไปทำงานนอกสถานที่ได้ ซึ่งศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 56 วรรคสอง ดังนี้ จำเลยจึงออกคำสั่งให้โจทก์ทั้งหกไปทำงานที่บริษัท เอ ซี ที เครื่องหนัง (ประเทศไทย) จำกัด ได้ส่วนในการไปทำงานที่บริษัทดังกล่าวของโจทก์ทั้งหกต้องเดินทางออกจากที่อ้อมน้อยเวลา 6 นาฬิกา และขากลับถึงที่อ้อมน้อยเวลา19 นาฬิกานั้น เป็นเรื่องของเวลาเดินทาง กรณีจะถือเอาเวลาเดินทางไปทำงานมารวมเป็นเวลาทำงานหาได้ไม่ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ปฏิบัติเช่นนั้น จึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งของจำเลยขัดต่อเวลาทำงานตามที่จำเลยกับโจทก์ทั้งหกตกลงให้เข้าทำงานเวลา 8.30 นาฬิกาและเลิกงานเวลา 17.30 นาฬิกา คำสั่งของจำเลยชอบด้วยระเบียบข้อบังคับและกฎหมายแล้ว การที่โจทก์ทั้งหกปฏิเสธไม่ไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โจทก์ทั้งหกไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งหกไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
สำหรับค่าชดเชยนั้น แม้การที่โจทก์ทั้งหกปฏิเสธไม่ไปทำงานตามคำสั่งของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยดังได้วินิจฉัยมา แต่กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย อันจะทำให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) และลำพังเหตุที่โจทก์ทั้งหกปฏิเสธไม่ไปทำงานตามคำสั่งของจำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยดังกล่าวก็ไม่ใช่กรณีร้ายแรง ยังไม่อาจทำให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) เพราะตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) นายจ้างจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือแล้วด้วยจึงจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างดังนี้ คดีจึงมีปัญหาว่าจำเลยได้ตักเตือนโจทก์ทั้งหกเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยจึงไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หรือจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหกหรือไม่ จำต้องให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง ในข้อนี้เพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง และตามประเด็นที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดไว้ในข้อ 1 ตอนท้ายว่า “และจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหรือไม่” โดยหากศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหก แต่หากฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งหกตามฟ้องคดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อต่อไปว่าที่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์ทั้งหกละทิ้งการงานและประพฤติตนไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องหรือไม่ อีก เพราะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วเปลี่ยนแปลงไป และไม่มีผลในการวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าชดเชยแต่อย่างใดอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหกสำนวนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าชดเชยนั้นให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า จำเลยได้ตักเตือนโจทก์ทั้งหกในกรณีดังกล่าวข้างต้นเป็นหนังสือแล้วหรือไม่แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share