คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6750/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่2ถึงที่7ให้ออกจากที่ดินพิพาทการดำเนินคดีดังกล่าวโจทก์ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่8เป็นทนายความดำเนินคดีแทนและได้ให้อำนาจจำเลยที่8ถอนฟ้องได้ด้วยจำเลยที่8จึงมีอำนาจถอนฟ้องได้ในขอบเขตที่ได้รับมอบอำนาจหากการกระทำของจำเลยที่8ก่อให้เกิดความเสียหายก็เป็นความผิดของโจทก์ในการเลือกบุคคลเป็นตัวแทนโจทก์จะอ้างว่าจำเลยที่8กับพวกฉ้อฉลโจทก์ทำให้การถอนฟ้องเป็นโมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้วจึงตกเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์หาได้ไม่การที่จำเลยที่8ถอนฟ้องในคดีดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายส่วนการกระทำของจำเลยที่8หากเป็นละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ประการใดโจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวแก่จำเลยที่8ต่างหากได้เมื่อการที่จำเลยที่8ถอนฟ้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการถอนฟ้องได้ การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยที่1ถึงที่7พร้อมด้วยบริวารออกจากที่ดินพิพาทก็มีความหมายเท่ากับโจทก์ฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืนเป็นของตนนั่นเองเมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าผู้ที่ครอบครองย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์คงได้เฉพาะสิทธิครอบครองเท่านั้นถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ที่ครอบครองจะต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน1ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองถ้าไม่ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าวผู้ครอบครองย่อมหมดสิทธิที่จะฟ้องเรียกเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1375วรรคสองและข้อเท็จจริงปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยที่1ถึงที่7ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่ที่โจทก์ฟ้องเป็นครั้งแรกซึ่งฟ้องในปี253ตลอดมาและโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องวันที่10สิงหาคม2533เป็นเวลาเกินกว่า1ปีนับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทหาใช่โจทก์จะใช้สิทธิฟ้องเรียกเอาสิทธิครอบครองคืนเมื่อใดก็ได้เพราะไม่มีกำหนดอายุความไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 7 หมู่ที่ 2 ตำบลบางกะไชยอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ประมาณ 56 ไร่ จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาทหลวงโรมันคาทอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 เดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ออกจากที่ดินดังกล่าวเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1051/2531 หมายเลขแดงที่ 3391/2532 ของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อ้างว่าได้เช่าที่ดินแปลงนี้จากจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึงเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าว ในวันนัดชี้สองสถานโจทก์แต่งจำเลยที่ 8 เป็นทนายความ ศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 12 มิถุนายน 2532 แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 8กลับสมคบกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8เป็นการกระทำไม่สุจริต เจตนาทำกลฉ้อฉลโจทก์ นิติกรรมการถอนฟ้องดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะกรรม โจทก์ได้บอกล้างโมฆียะกรรมไปยังจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 แล้ว นับแต่วันที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7เป็นครั้งแรก จนถึงปัจจุบันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดรายได้ในการตัดใบจากขาย คิดเป็นค่าเสียหายไม่น้อยกว่าเดือนละ 15,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าการถอนฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 391/2532 ของศาลชั้นต้น เป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 17 ปี แล้ว โจทก์ไม่ได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง จึงไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 391/2532 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เข้าขุดบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาในที่ดินพิพาทเพราะเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ 8 เพื่อขอถอนฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 391/2532 ของศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 7ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 8 ให้การว่า โจทก์ได้แต่งจำเลยที่ 8 เป็นทนายความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 391/2532 ของศาลชั้นต้นโดยในใบแต่งทนายความระบุให้จำเลยที่ 8 มีอำนาจในการถอนฟ้องการประนีประนอมยอมความการสละสิทธิ การใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ด้วย ในชั้นชี้สองสถานจำเลยที่ 8 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นสมควรถอนฟ้องจึงปรึกษากับโจทก์ โจทก์ยินยอมให้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวเพื่อนำมาฟ้องเป็นคดีใหม่ จำเลยที่ 8 จึงได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีดังกล่าวจำเลยที่ 8 ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ จึงไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2ถึงที่ 7 ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม2531 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้ออกจากที่ดินพิพาท ตามคดีหมายเลขดำที่ 1051/2531 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวโจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 8 เป็นทนายความแทนนายจุลวัชร พื้นผล ทนายความคนเดิม จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาตต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2532 จำเลยที่ 8 ถอนฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยดังกล่าว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องและมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 391/2532ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2533 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งแปดเป็นคดีนี้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่าการที่จำเลยที่ 8 ถอนฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 391/2532 ของศาลชั้นต้น ผูกพันโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ในคดีดังกล่าวโจทก์ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 8 เป็นทนายความดำเนินคดีแทนและได้ให้อำนาจจำเลยที่ 8 ถอนฟ้องได้ด้วย ปรากฏตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 28 เมษายน 2532 ในสำนวนคดีดังกล่าว จำเลยที่ 8 จึงมีอำนาจถอนฟ้องได้ในขอบเขตที่ได้รับมอบอำนาจ หากการกระทำของจำเลยที่ 8 ก่อให้เกิดความเสียหายก็เป็นความผิดของโจทก์ในการเลือกบุคคลเป็นตัวแทน โจทก์จะอ้างว่าจำเลยที่ 8กับพวกฉ้อฉลโจทก์ทำให้การถอนฟ้องเป็นโมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้วจึงตกเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 8 ถอนฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 391/2532 ของศาลชั้นต้น จึงผูกพันโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 8 หากเป็นละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ประการใดโจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวแก่จำเลยที่ 8ต่างหากได้ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 8 ถอนฟ้องไม่ผูกพันโจทก์นั้นไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการถอนฟ้องที่จำเลยที่ 8 ได้กระทำไปและให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมกับใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ มิใช่เรื่องการเรียกร้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาท และโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทได้ใช้สิทธิติดตามเอาคืนของตนเองซึ่งโจทก์จะใช้สิทธิดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ ไม่มีอายุความการใช้สิทธิเรียกร้อง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องนั้นเห็นว่า เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการที่จำเลยที่ 8 ถอนฟ้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการถอนฟ้องได้ การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7พร้อมด้วยบริวารออกจากที่ดินพิพาทก็มีความหมายเท่ากับโจทก์ฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืนเป็นของตนนั่นเอง และตอนท้ายของฎีกาโจทก์ก็รับว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทใช้สิทธิติดตามเอาสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทคืนเพียงแต่อ้างว่าการใช้สิทธิดังกล่าวไม่มีอายุความ จะใช้สิทธิเรียกเอาคืนเมื่อใดก็ได้เท่านั้นเห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าผู้ที่ครอบครองย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์คงได้เฉพาะสิทธิครอบครองเท่านั้น ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่ครอบครองจะต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองถ้าไม่ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้ครอบครองย่อมหมดสิทธิที่จะฟ้องเรียกเอาคืน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง และข้อเท็จจริงปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่ที่โจทก์ฟ้องเป็นครั้งแรกซึ่งฟ้องในปี 2531 ตลอดมาและโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องวันที่ 10 สิงหาคม 2533 เป็นเวลาเกินกว่า1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง การที่โจทก์อ้างว่าโจทก์จะใช้สิทธิฟ้องเรียกเอาสิทธิครอบครองคืนเมื่อใดก็ได้เพราะไม่มีกำหนดอายุความนั้น ไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย
พิพากษายืน

Share