แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา6ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตดังนั้นการที่โจทก์และร. เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยสุจริตเมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์หลอกลวงร. ให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมแต่พยานหลักฐานจำเลยไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้จึงถือว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดิน จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินและบ้านพิพาทร. มารดาของจำเลยเป็นผู้ซื้อและใช้เงินตนเองเท่านั้นการที่จำเลยนำสืบและอุทธรณ์ว่าเงินที่ใช้ซื้อที่ดินและบ้านเป็นของจำเลยส่วนหนึ่งด้วยจึงเป็นการนำสืบและอุทธรณ์นอกคำให้การ โจทก์และมารดาจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันโดยโจทก์รับโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทมาโดยสุจริตทั้งไม่ได้มีนิติกรรมห้ามไม่ให้แบ่งโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1363วรรคแรก โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยไม่ปรากฏว่ามีนิติกรรมห้ามมิให้แบ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้แบ่งแยกที่ดินและตึกแถวพิพาทได้และก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์และจำเลยไปพบพนักงานสอบสวนแล้วบันทึกลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าผู้แจ้งทั้งสองมีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ร้อยตำรวจเอกส.พยายามไกล่เกลี่ยแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ทั้งสองฝ่ายตกลงไปฟ้องร้องกันต่อศาลแพ่งเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์กรณีเช่นนี้ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา55โดยไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวขอแบ่งแยกไปยังจำเลยแล้วหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 72263 แขวงบางค้อ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครเนื้อที่ประมาณ 23.9 ตารางวา พร้อมตึกแถว 3 ชั้น เลขที่ 17/27แขวงบางค้อ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ร่วมกับนางสาวรัตนา อังศุวณิชชากร มารดาบุญธรรมคนละครึ่งโดยโจทก์รับโอนมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2532 จากนางสาวรัตนา หลังจากที่นางสาวรัตนาถึงแก่กรรม โจทก์ได้แจ้งแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวรัตนาให้แบ่งแยกโฉนดที่ดินและตึกแถวแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยขอบังคับจำเลยแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 72263 แขวงบางค้อเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พร้อมตึกแถวเลขที่ 17/27แขวงบางค้อ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหากแบ่งไม่ได้ก็ให้นำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวรัตนา อังศุวณิชชากร มารดาจำเลย โจทก์หลอกลวงนางสาวรัตนาให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอ้างว่าหากโจทก์มิได้ร่วมลงชื่อในโฉนดแล้วจำเลยจะไล่โจทก์ออกจากบ้านพิพาท โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะที่ดินและตึกแถวพิพาทนางสาวรัตนาเป็นผู้ซื้อและใช้เงินตนเองเท่านั้น มารดาจำเลยมีเจตนาให้บุตรหลานอยู่อาศัยในที่ดินและตึกแถวพิพาทนี้ตลอดไป ไม่ประสงค์ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน โจทก์ไม่เคยติดต่อหรือมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปแบ่งแยกที่ดินและตึกแถวพิพาทตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์โอนที่ดินและตึกแถวพิพาทเฉพาะกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์คืนแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวรัตนา อังศุวณิชชากรหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นางสาวรัตนาได้โอนที่ดินและตึกแถวพิพาทแก่โจทก์ด้วยความเต็มใจ โจทก์ไม่ได้ล่อลวง บังคับขู่เข็ญหรือใช้เล่ห์เพทุบายแต่อย่างใด หากแต่เนื่องจากโจทก์ช่วยค้าขาย ส่วนจำเลยไม่ได้ช่วยเหลือนางสาวรัตนาแต่อย่างใดจำเลยชอบทำร้ายทุบตีโจทก์ นางสาวรัตนาเกรงว่าเมื่อตนถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์จะเดือดร้อนจึงได้โอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้ก่อนและเป็นไปไม่ได้ที่นางสาวรัตนามีความประสงค์ไม่ให้ขายที่ดินและตึกแถวพิพาท เพราะนางสาวรัตนาก็รู้ดีอยู่ว่าจำเลยและโจทก์ทะเลาะวิวาทกันตลอดมา โจทก์ได้รับโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 72263แขวงบางค้อ เขนบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้นำทรัพย์ดังกล่าวขายทอดตลาดนำเงินที่ขายได้มาแบ่งแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และนางสาวรัตนาอังศุวณิชชากร เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมในโฉนดที่ดินเลขที่72263 แขวงบางค้อ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พร้อมตึกแถว3 ชั้น เลขที่ 17/27 แขวงบางค้อ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกมีว่าโจทก์รับโอนที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต” จากบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยสุจริต เมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์หลอกลวงนางสาวรัตนาให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์รับโอนมาโดยไม่สุจริต ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย ในข้อนี้จำเลยเบิกความว่า พยานทราบว่านางสาวรัตนามารดาจำเลยซื้อทาวน์เฮ้าส์พิพาทมาในปี 2531โดยใส่ชื่อมารดาคนเดียว ภายหลังมารดาจำเลยเสียชีวิตแล้วจึงทราบจากสามีนางยุพาว่าโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของรวมโดยนางยุพาเป็นผู้ยุยงให้มารดาจำเลยลงชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมดังกล่าว ส่วนพยานจำเลยอีก 2 ปาก คือ นางจารุวรรณ อังศุวณิชชากรและนายสมาน อารีสินพิทักษ์ ไม่ได้เบิกความถึงเหตุที่โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของรวมในที่ดินและตึกแถวพิพาท ดังนี้ จำเลยจึงมีแต่ตัวจำเลยคนเดียวมาเบิกความเป็นพยาน และเป็นพยานบอกเล่าโดยไม่มีพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ใช้อุบายหลอกลวงนางสาวรัตนามารดาจำเลยให้ลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมแต่อย่างใดพยานหลักฐานจำเลยไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นได้จึงถือว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและบ้านพิพาทโดยสุจริต
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยได้ออกเงินช่วยในการซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาท แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นข้อที่เพิ่งยกขึ้นมาว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ถือว่าไม่ได้ว่ากล่าวมาโดยชอบในศาลชั้นต้น เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินและบ้านพิพาทนางสาวรัตนามารดาของจำเลยเป็นผู้ซื้อและใช้เงินตนเองเท่านั้น การที่จำเลยนำสืบและอุทธรณ์ว่าเงินที่ใช้ซื้อที่ดินและบ้านเป็นของจำเลยส่วนหนึ่งด้วยจึงเป็นการนำสืบและอุทธรณ์นอกคำให้การ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งแยกที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท เพราะการที่มารดาจำเลยใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมก็เพื่อมิให้จำเลยไล่โจทก์ออกจากบ้านเท่านั้น หาได้มีเจตนาให้โจทก์ครึ่งหนึ่งไม่นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และมารดาจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันโดยรับโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทมาโดยสุจริต ทั้งไม่ได้มีนิติกรรมห้ามไม่ให้แบ่งโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1363 วรรคแรก
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์มิได้บอกกล่าวจำเลยก่อนฟ้องจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้ว เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยไม่ปรากฏว่ามีนิติกรรมห้ามมิให้แบ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้แบ่งแยกที่ดินและตึกแถวพิพาทได้ ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2535 ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์และจำเลยไปพบพนักงานสอบสวนแล้วบันทึกลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าผู้แจ้งทั้งสองมีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์บ้านเลขที่ 17/27 ซอยไพศาล แขางบางค้อ เขตจอมทองกรุงเทพมหานคร ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ สว่างศรี พยายามไกล่เกลี่ยแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายตกลงไปฟ้องร้องกันต่อศาลแพ่งเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ ปรากฏรายละเอียดตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.4 กรณีเช่นนี้ถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวขอแบ่งแยกไปยังจำเลยแล้วหรือไม่ เพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีนี้
พิพากษายืน