คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมตัดผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 แม้ต่อมาภายหลังผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมกับผู้คัดค้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก และรับมรดกบางส่วนของเจ้ามรดกก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างบุคคลทั้งสองให้เสร็จ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850เท่านั้น หาใช่การสละมรดกหรือสละพินัยกรรมของผู้ร้องไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 และ 1698(3) ไม่เพราะการสละมรดกหรือสละพินัยกรรมเพียงบางส่วนไม่อาจกระทำได้เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1613วรรคแรก

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรเจ้ามรดก เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว และตัดนายวิบูลย์ วรวิบูลย์ มิให้รับมรดกของเจ้ามรดก ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก
นายวิบูลย์ วรวิบูลย์ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรเจ้ามรดกยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก หรือตั้งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าผู้ร้องไม่ติดใจให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกอีกต่อไป และผู้ร้องยินยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแทน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดกแต่ต่างบิดากัน ก่อนถึงแก่ความตายเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้อง และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก พร้อมกับตัดผู้คัดค้านมิให้รับมรดกของเจ้ามรดก ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกและผู้ร้องยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแทนผู้ร้อง คดีมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อเจ้ามรดกทำพินัยกรรมตัดมิให้ผู้คัดค้านรับมรดกของเจ้ามรดกแล้ว ต่อมาภายหลังผู้ร้องกับผู้คัดค้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ยอมให้ผู้คัดค้านได้รับมรดกบางส่วนของเจ้ามรดกและยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ผู้คัดค้านจะมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุไว้ชัดแจ้งว่า เจ้ามรดกยกทรัพย์มรดกของ เจ้ามรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก และในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวเจ้ามรดกได้ระบุตัดผู้คัดค้านมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกไว้ด้วยโดยผลแห่งพินัยกรรมฉบับดังกล่าว ถือว่าเจ้ามรดกแสดงเจตนาชัดแจ้งตัดผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608(1) แล้วผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของเจ้ามรดกที่จะพึงร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องและผู้คัดค้านจะได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อให้ผู้คัดค้านได้รับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกบางส่วนและผู้ร้องยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแทนผู้ร้องก็ตาม ข้อตกลงระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างบุคคลทั้งสองให้เสร็จไป อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 เท่านั้น หาใช่เป็นการสละมรดกหรือสละพินัยกรรมของผู้ร้องตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 และ 1698(3) ไม่ เพราะการสละมรดกเพียงบางส่วนก็ดีหรือสละพินัยกรรมเพื่อไม่รับมรดกตามพินัยกรรมเพียงบางส่วนก็ดีกระทำไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1613 วรรคแรก และเมื่อพินัยกรรมเจ้ามรดกระบุตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามพินัยกรรมไว้โดยเฉพาะแล้ว ก็ไม่ชอบที่ผู้คัดค้านจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกอันเป็นการฝืนเจตนารมณ์ของเจ้ามรดกที่แสดงไว้โดยพินัยกรรม ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share