คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากนั้นโจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากจะต้องแสดงเจตนาเพื่อขอไถ่ต่อจำเลยผู้รับซื้อฝากและจะต้องนำสินไถ่ตามราคาที่ขายฝากพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมการไถ่ไปพร้อมในวันไถ่การขายฝากด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา499และมาตรา500เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ไถ่มีหน้าที่จะต้องชำระตอบแทนให้แก่จำเลยฉะนั้นแม้โจทก์ทั้งสองจะยืนยันว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินพร้อมที่จะไถ่การขายฝากที่ดินจากจำเลยก็ตามแต่ไม่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองได้แสดงเงินสินไถ่ให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินดูและให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินเพียงพอที่จะไถ่การขายฝากแต่กลับได้ความจากว.พยานจำเลยซึ่งเป็นสมุห์บัญชีธนาคารว่าได้รับการติดต่อจากจำเลยให้มารับเงินจากการไถ่การขายฝากที่ดินแต่โจทก์ทั้งสองบอกให้รอนายทุนนำเงินมาไถ่ซึ่งในวันนั้นไม่มีผู้ใดมาไถ่ที่ดินพิพาทแสดงว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีเงินสินไถ่จำนวนเพียงพอที่จะไถ่การขายฝากจากจำเลยได้จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิไถ่โดยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2179 เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2524 โจทก์ทั้งสองขายฝากแก่จำเลยเป็นเงิน 1,484,000 บาท ครบกำหนดไถ่วันที่11 มีนาคม 2525 จำเลยเรียกเงินค่าปากถุงหรือเงินนายหน้า โดยหักจากเงินที่โจทก์ทั้งสองรับจริงอีก 100,000 บาท และจำเลยฉ้อฉลให้โจทก์ทั้งสองลงนามในสัญญากู้ยืมอีกเป็นเงิน 186,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมอำพราง ครั้นใกล้วันครบกำหนดไถ่ จำเลยบอกให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้ เงินค่าปากถุง และดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 300,000 บาท เมื่อถึงวันที่ 11 มีนาคม 2525 โจทก์ทั้งสองไม่สามารถไถ่ที่ดินพิพาทได้ เพราะจำเลยเรียกร้องเงินนอกเหนือจากสัญญาขายฝากซึ่งไม่มีสิทธิจะเรียกได้ตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยให้โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิไถ่ที่ดินพิพาทให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ให้โจทก์ทั้งสอง มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาโดยให้จำเลยรับเงินไถ่ถอน 1,484,000 บาท จากโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยรับซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยไม่ได้เรียกร้องเงินค่าปากถุงหรือเงินนายหน้า หรือหักเงินไว้จากโจทก์ทั้งสอง 100,000 บาท สัญญากู้ยืมตามฟ้องมิใช่นิติกรรมอำพรางหลังจากขายฝากโจทก์ทั้งสองได้มาขอกู้ยืมเงินเพิ่มจากจำเลยอีก 186,000 บาท จำเลยไม่เคยเรียกเงินเพิ่มโจทก์ทั้งสองอีก300,000 บาท ตามฟ้องในวันครบกำหนดไถ่ จำเลยและโจทก์ทั้งสองได้ไปพร้อมกันที่สำนักงานที่ดิน แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีเงินไถ่โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2524 โจทก์ทั้งสองได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2179 ตำบลสามวาฝั่งตะวันตก อำเภอมีนบุรี(เมือง) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 39 ไร่เศษ ไว้กับจำเลยเป็นเงิน1,484,000 บาท โดยกำหนดไถ่คืนภายในหนึ่งปี
โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิไถ่แล้วนั้นศาลฎีกาเห็นว่า การใช้สิทธิไถ่นั้น โจทก์ทั้งสองผู้ขายฝากจะต้องแสดงเจตนาเพื่อขอไถ่ต่อจำเลยผู้รับซื้อฝาก และจะต้องนำสินไถ่ตามราคาที่ขายฝากคือเงินจำนวน 1,484,000 บาท พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมการไถ่ไปพร้อมในวันไถ่การขายฝากด้วย ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 499 และมาตรา 500 เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ไถ่มีหน้าที่จะต้องชำระตอบแทนให้แก่จำเลย ฉะนั้นแม้โจทก์ทั้งสองจะเบิกความยืนยันว่า โจทก์ทั้งสองมีเงินจำนวน 1,520,000 บาท พร้อมที่จะไถ่การขายฝากที่ดินจากจำเลยก็ตามแต่ไม่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองได้แสดงเงินสินไถ่จำนวนดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานที่ดินดู และให้บันทึกเป็นหนังสือไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองมีเงินเพียงพอที่จะไถ่การขายฝากนอกจากนี้โจทก์ทั้งสองมิได้นำเจ้าพนักงานที่ดินมาเบิกความต่อศาลเกี่ยวกับจำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทั้งสองไถ่การขายฝาก ทั้ง ๆที่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่าได้ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบแล้วนางวัชรี ทิพย์มนตรี สมุห์บัญชีของธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาสุขุมวิท เบิกความเป็นพยานจำเลยว่าจำเลยติดต่อให้พยานมารับเงินจากการไถ่การขายฝากที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขามีนบุรี พยานมาพร้อมกับจำเลย โจทก์ทั้งสองบอกพยานให้รอนายทุนนำเงินมาไถ่ แต่ในวันนั้นไม่มีผู้ใดมาไถ่ที่ดินพิพาทศาลฎีกาเชื่อว่าในวันไถ่การขายฝาก โจทก์ทั้งสองไม่มีเงินสินไถ่จำนวนเพียงพอที่จะไถ่การขายฝากจากจำเลยได้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิไถ่โดยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของโจทก์ทั้งสองแม้จะได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share