แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองเพราะเห็นว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีไม่จำต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นฟ้องซ้ำ จำเลยที่ 2 มีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุมขึ้นแก้อุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่จำเลยที่ 2 คงแก้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่เท่านั้น จำเลยที่ 2 หาได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมขึ้นแก้อุทธรณ์ด้วยไม่ ดังนั้น ปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงไม่ใช่ปัญหาที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9201/2542 นั้น จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ และมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง โดยมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1447/2543 นั้น ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานรับของโจรทรัพย์รวม 4 รายการ และมีคำสั่งให้คืนทรัพย์ทั้ง 4 รายการแก่โจทก์ที่ 2 โดยคดีอาญาทั้งสองเรื่องดังกล่าวไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ซึ่งในการฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 1 ในการรับเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไว้และโจทก์ที่ 2 ได้รับทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 2 แล้ว 4 รายการ คือ ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 20, 24, 25 และ 26 รวมเป็นเงิน 8,700 บาท ส่วนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 17 ได้รับคืนเฉพาะองค์พระส่วนทองคำที่ลอกไปยังไม่ได้คืน โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวนอื่นๆ นอกจากทรัพย์ 4 รายการพร้อมองค์พระดังกล่าว ซึ่งศาลในคดีอาญาทั้งสองคดีดังกล่าวยังมิได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้บางประเด็นจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 7,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 1 ถึงอันดับที่ 9 แก่โจทก์ที่ 1 หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 180,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 1 ถึงอันดับที่ 13 อันดับที่ 15 ถึงอันดับที่ 17 (เฉพาะทองคำที่ลอกไปจากองค์พระ) อันดับที่ 18, 19, 21 ถึงอันดับที่ 23 และอันดับที่ 27 ถึงอันดับที่ 29 แก่โจทก์ที่ 2 หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 468,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งสองและพยานจำเลยที่ 2 เฉพาะประเด็นที่มิใช่เป็นการฟ้องซ้ำแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 400 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองเพราะเห็นว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีไม่จำต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นฟ้องซ้ำ จำเลยที่ 2 มีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุมขึ้นแก้อุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่จำเลยที่ 2 คงแก้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่เท่านั้น จำเลยที่ 2 หาได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมขึ้นแก้อุทธรณ์ด้วยไม่ ดังนั้นปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ จึงไม่ใช่ปัญหาที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงข้อเดียวว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ สำหรับประเด็นข้อนี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้ลักทรัพย์ต่างๆ รวม 10 รายการ รวมเป็นเงิน 187,500 บาท ของโจทก์ที่ 1 และลักทรัพย์ต่างๆ รวม 29 รายการ รวมเป็นเงิน 489,000 บาท ของโจทก์ที่ 2 ไปโดยสุจริต ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมและถูกฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 9256/2542 และศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 187,500 บาท และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 480,300 บาท ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9201/2542 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว และจำเลยที่ 2 ได้รับจี้สีขาวคล้ายเพชรรูปสมอเรือ จำนวน 1 อัน ราคา 1,200 บาท แหวนสีทองมีพลอยสีทับทิม จำนวน 1 วง ราคา 4,500 บาท จี้สีขาวคล้ายเพชรรูปดอกไม้ จำนวน 1 อัน ราคา 1,000 บาท และต่างหูคล้ายเพชร จำนวน 1 คู่ ราคา 2,000 บาท รวมราคาทรัพย์ทั้งสิ้น 8,700 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของโจทก์ที่ 2 ที่ถูกจำเลยที่ 1 ลักไป จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยการกระทำความผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมและถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 9256/2542 และศาลอาญากรุงเทพใต้ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ ซึ่งพนักอัยการโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ คือ คดีอาญาหมายเลขดำที่ 9451/2542 จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ฐานรับของโจร มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และให้คืนของกลางทั้ง 4 รายการแก่โจทก์ที่ 2 ด้วย ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1447/2543 โดยคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสองเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9201/2542 นั้น จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ และมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง โดยมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1447/2543 นั้น ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานรับของโจรทรัพย์รวม 4 รายการ และมีคำสั่งให้คืนทรัพย์ทั้ง 4 รายการแก่โจทก์ที่ 2 โดยคดีอาญาทั้งสองเรื่องดังกล่าวไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ซึ่งในการฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 1 ในการรับเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไว้และโจทก์ที่ 2 ได้รับทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 2 แล้ว 4 รายการ คือ ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 20, 24, 25 และ 26 รวมเป็นเงิน 8,700 บาท ส่วนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 17 ได้รับคืนเฉพาะองค์พระ ส่วนทองคำที่ลอกไปยังไม่ได้คืน โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวนอื่นๆ นอกจากทรัพย์ 4 รายการพร้อมองค์พระดังกล่าว ซึ่งศาลในคดีอาญาทั้งสองคดีดังกล่าวยังมิได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้บางประเด็นจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งสองและพยานจำเลยที่ 2 เฉพาะประเด็นที่มิใช่เป็นการฟ้องซ้ำ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน