คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาท จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย
ข้อที่จำเลยนำสืบเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการรับฟังที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่ ท. นั้นเพื่อชำระหนี้เงินยืม ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่เห็นสมควรเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยเพื่อชำระหนี้นั้นได้ การที่ ท. ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทภายหลัง ถือได้ว่า ท. เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริต จดวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง กรณีหาเป็นการลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่
จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อ ท. ผู้ทรงคนก่อน การที่ ท. ผู้ทรงคนก่อนโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนเช็คพิพาททำได้เพียงด้วยการส่งมอบให้กัน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ เมื่อจำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทไม่มีข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับ ท. ผู้ทรงคนก่อนที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์และ ท. ผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินผูกพันกันในการรับโอนเช็คพิพาทมาหาได้ไม่ จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 918, 989 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับเช็คมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายจากผู้มีชื่อนำมาชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 214,794.52 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาท จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดอ้างว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ โจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยสมคบกับนางทิพย์นารีฉ้อฉลจำเลย โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย โดยจำเลยนำสืบว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินนางทิพย์นารี จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้แก่นางทิพย์นารีนำไปค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น และมีข้อตกลงไม่ให้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน แล้วนางทิพย์นารีกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น 200,000 บาท ต่อมาจำเลยแนะนำให้นางทิพย์นารีนำเงินไปคืนให้แก่ผู้ที่ให้กู้ยืมมา ซึ่งนางทิพย์นารีจะนำเงินไปชำระให้แก่ผู้ให้กู้ จำเลยขอเช็คพิพาทคืนจากนางทิพย์นารีแล้วแต่นางทิพย์นารีไม่คืนเช็คให้ แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่นางทิพย์นารีเป็นการประกันหนี้กู้ยืมโดยจำเลยและนางทิพย์นารี ไม่เคยมีข้อตกลงหรือสัญญาให้นำเช็คเข้าเรียกเก็บเงินในกรณีที่ไม่มีการชำระหนี้กู้ยืม จำเลยชำระหนี้เงินกู้ 200,000 บาท ให้แก่นางทิพย์นารีผู้ให้กู้เป็นที่เรียบร้อยนานแล้ว ดังนี้ ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าว ประเด็นจึงมีว่า นางทิพย์นารีซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คคนก่อนได้รับเช็คพิพาทจากจำเลยเป็นการชำระหนี้จำเลยที่จำเลยกู้ไปจากนางทิพย์นารีผู้ให้กู้หรือไม่และเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ เพราะจำเลยชำระหนี้เงินกู้คืนแก่นางทิพย์นารีแล้วหรือไม่ ข้อที่จำเลยนำสืบมาจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (1) แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวแล้วฟังว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้นางทิพย์นารีเพื่อนางทิพย์นารีนำไปประกันหนี้การกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นแล้ว นางทิพย์นารีไม่คืนเช็คพิพาทแก่จำเลย ก็เป็นการรับฟังที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่นางทิพย์นารีเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืมและจำเลยยังมิได้ชำระหนี้คืนแก่นางทิพย์นารีผู้ให้กู้ เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิด มูลหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่นางทิพย์นารีนั้นเพื่อชำระหนี้เงินยืม ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยินยอมให้ผู้ทรงเช็คลงวันที่เองตามที่เห็นสมควรเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คจากจำเลยเพื่อชำระหนี้นั้นได้ การที่นางทิพย์นารีลงวันสั่งจ่ายในเช็คพิพาทภายหลัง ถือได้ว่านางทิพย์นารีเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายกระทำการโดยสุจริต จดวันสั่งจ่ายที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง กรณีหาเป็นการลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่ สำหรับข้อที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทจากนางทิพย์นารีผู้ทรงคนก่อนโดยโจทก์และนางทิพย์นารีผู้ทรงเช็คคนก่อนไม่มีหนี้สินผูกพันกัน แต่เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลจำเลย โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อนางทิพย์นารีผู้ทรงคนก่อน การที่นางทิพย์นารีผู้ทรงคนก่อนโอนเช็คพิพาทแก่โจทก์ เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การโอนเช็คพิพาททำได้เพียงด้วยส่งมอบให้กัน โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ เมื่อจำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทไม่มีข้อต่อสู้ที่เกี่ยวกับนางทิพย์นารีผู้ทรงคนก่อนที่จะใช้เป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์และนางทิพย์นารีผู้ทรงคนก่อนไม่มีหนี้สินผูกพันกัน ในการรับโอนเช็คพิพาทมาหาได้ไม่ จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 918, 989 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share